STRATEGY VS TACTICS คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

ในการทำธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งอย่างดุเดือด การวางแผนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะ และ STRATEGY VS TACTICS ก็ถือเป็นตัวช่วยแรกๆ ที่สำคัญกับธุรกิจ โดยทั้ง 2 อย่างนี้ ยังมีหลายคนที่สับสนอยู่ว่าแตกต่างกันอย่างไร แล้วสิ่งไหนสำคัญกับธุรกิจมากกว่ากัน ครั้งนี้ทางบทความจึงถือโอกาสนำเอาความหมายและความสำคัญของทั้งสองสิ่งมาอธิบายให้เข้าใจโดยทั่วกัน 

 

STRATEGY คืออะไร

 

STRATEGY คือ แผนกลยุทธ์ ที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ ข้อมูลเหล่านั้นอาจมาจากการสำรวจ ประสบการณ์ และการเก็บรวบรวมมาไว้ในที่เดียวกัน ทั้งข้อมูลของแบรนด์ตัวเองและข้อมูลของคู่แข่ง จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นและปัญหาที่ตามมา เพื่อหาวิธีการที่จะกระทำต่อไปในอนาคต และต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ การหาวิธีการนำมาซึ่งการวางแผนและแผนที่จะต่อสู้กับคู่แข่งได้ก็คือแผนกลยุทธ์หรือที่เรียกว่า STRATEGY นั่นเอง

 

TACTICS คืออะไร 

 

TACTICS คือ การกระทำที่อยู่ในแผนกลยุทธ์นั้น แม้ว่าหลายครั้งทั้ง STRATEGY และ TACTICS จะดูเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงนั้นทั้ง 2 สิ่งแยกออกจากกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกันเสมอ โดย STRATEGY คือ แผนกลยุทธ์ ส่วน TACTICS คือ การกระทำที่อยู่ในแผนกลยุทธ์นั้น กล่าวคือ TACTICS เป็นสิ่งที่อยู่ใน STRATEGY อีกทีนั่นเอง

 

ยกตัวอย่าง STRATEGY VS TACTICS

 

ตัวอย่างที่ 1 : ธุรกิจแชมพูแบรนด์ใหม่สำหรับผมทำสี 

 

ด้วยความที่เป็นแบรนด์ใหม่ และแชมพูสูตรสำหรับผมทำสีไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะปกติแชมพูแบรนด์ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็มีหลายแบรนด์ที่ออกสูตรสำหรับผมทำสีมาให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ สำหรับแบรนด์ใหม่ ที่ต้องการแจ้งเกิดในตลาด และต้องสู้กับแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว แบรนด์ใหม่จะต้องแย่งฐานลูกค้านั้นมาเป็นของตัวเองให้ได้ แบรนด์จึงต้องวางแผนกลยุทธ์ขึ้นมา โดยมีแผนว่าจะต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มคนทำสีผมแล้วผมเสียหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ และทำความรู้จักกับแบรนด์ จึงได้วาง STRATEGY VS TACTICS ไว้ดังนี้ 

 

  • STRATEGY คือ การสร้างการรับรู้ โดยการทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกทึ่งในผลิตภัณฑ์ 
  • TACTICS คือ จ้าง Influencer ที่ทำสีผมและมีปัญหาผมเสียให้ทำคลิปรีวิวสภาพผมหลังใช้แชมพู แล้วโพสต์ลง Social Media ได้แก่ TikTok, X และ Youtube 

ตัวอย่างที่ 2 : ธุรกิจ Smartwatch แบรนด์ใหม่ 

 

ธุรกิจ Smartwatch แบรนด์ใหม่ที่ต้องการจะแจ้งเกิดในตลาด แต่ Smartwatch ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะมีแบรนด์อื่นทำก่อนแล้ว จึงได้วางแผนกลยุทธ์ที่จะใช้งานดีไซน์ที่แปลกใหม่เป็นจุดเด่น หลังจากลองสำรวจแล้วว่าส่วนใหญ่ Smartwatch มักออกแบบหน้าปัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขอบมน หรือไม่ก็ทรงวงกลม แบรนด์ใหม่นี้จึงตั้งใจใช้ทรงแปดเหลี่ยมออกมาเพื่อสร้างความแปลกตา โดยใช้ดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงมาร่วมออกแบบสินค้า จึงได้วาง STRATEGY VS TACTICS ไว้ดังนี้ 

 

  • STRATEGY คือ ใช้ดีไซน์แปลกตาเป็นจุดเด่นของสินค้า และทำให้คนหันในสนใจกับรูปทรงแปลกตานี้
  • TACTICS คือ ทำการออกแบบ Smartwatch แปดเหลี่ยมขึ้นมา และผลิตวิดีโอโฆษณาเผยให้เห็นรูปร่าง Smartwatch แบบเน้นๆ พร้อมกับดึงดีไซน์เนอร์ที่กำลังเป็นกระแสมาร่วมออกแบบและใส่ชื่อดีไซน์เนอร์นำเสนอลงไปในวิดีโอโฆษณา 

 

ตัวอย่างที่ 3 : ธุรกิจร้านอาหารหม้อไฟหมาล่า ที่ต้องการต่อสู้กับร้านสุกี้แบรนด์ดังที่มาเปิดข้างๆ 

 

ธุรกิจร้านอาหารหม้อไฟหมาล่า ที่กำลังประสบปัญหาร้านสุกี้แบรนด์ดังมาเปิดข้างๆ จนแย่งลูกค้าไปหมด จึงคิดค้นแผนกลยุทธ์ที่จะเอาลูกค้ากลับคืนมา โดยการปรับเปลี่ยนราคาใหม่ให้ใกล้เคียงกับร้านสุกี้ข้างๆ แต่ให้สิ่งที่ลูกค้าจะต้องลูกค้าคุ้มค่ามากกว่าไปนั่งกินที่ร้านข้างๆ จึงได้วาง STRATEGY VS TACTICS ไว้ดังนี้ 

 

  • STRATEGY คือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากว่าไปกินร้านข้างๆ 
  • TACTICS คือ ปรับราคาให้ใกล้เคียงกับร้านสุกี้ข้างๆ แต่ให้ลูกค้าเลือกน้ำซุปได้มากถึง 4 น้ำซุป พร้อมกับเสนอกุ้งแม้น้ำตัวใหญ่ที่ร้านข้างๆ ไม่มี เพราะร้านข้างๆ มีแต่กุ้งตัวเล็ก 

ตัวอย่างที่ 4 : ธุรกิจคาเฟ่ออกเมนูใหม่ 

 

ธุรกิจคาเฟ่ที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ล่าสุดกำลังจะออกเมนูใหม่ และต้องการสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ ด้วยเมนูนี้ รวมถึงทำให้ลูกค้าเก่าให้นึกถึงและกลับมาลองเมนูใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยเมนูใหม่คือเค้กมันม่วง ที่มาพร้อมการตกแต่งหน้าตาเค้กให้สวยงามสะดุดตา จึงได้วาง STRATEGY VS TACTICS ไว้ดังนี้

 

  • STRATEGY คือ คิดเมนูใหม่ขึ้นมา และทำให้เป็นกระแสใน Social Media 
  • TACTICS คือ ออกเมนูเค้กมันม่วง พร้อมตกแต่งสวยงาม และทำการจ้าง Influencer มากิน แล้วทำคลิปวิดีโอรีวิวลง Social Media พร้อมติดแฮชแทก #เค้กมันม่วง เน้นช่องทาง TikTok, Instagram Reels และ X เป็นหลัก 

 

ตัวอย่างที่ 5 : ธุรกิจค่ายเพลงจะปั้นศิลปินกลุ่มใหม่ 

 

ธุรกิจค่ายเพลงต้องการปั้นศิลปินกลุ่มใหม่แนว T-POP ขึ้นมา โดยจะแจ้งเกิดด้วยเพลงเป็นหลัก พยายามทำให้เพลงติดหูและกลายเป็นเพลงฮิต จนคนฟังเพลงหันมาสนใจศิลปินหลังจากที่เพลงดังแล้ว จึงได้วางแผนกลยุทธ์ว่าจะใช้ Producer เพลงชื่อดังเจ้าของเพลงฮิตติดหูหลายบทเพลงเข้ามาทำเพลงให้ เพื่อให้เพลงเป็นกระแสบน Social Media จึงได้วาง STRATEGY VS TACTICS ไว้ดังนี้

 

  • STRATEGY คือ การทำให้เพลงต้องติดหูและกลายเป็นกระแสบน Social Media 
  • TACTICS คือ จ้าง Producer เพลงเจ้าของผลงานเพลงฮิตติดหูหลายเพลงเข้ามาช่วยทำเพลงใหม่ เมื่อเพลงถูกปล่อยออกมาแล้ว จ้างให้คนดังในแวดวงต่างๆ ใช้เพลงนี้ประกอบการทำคลิปอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคลิปอาหาร คลิปเที่ยว คลิปเดินห้าง ฯลฯ เพื่อ Upload ลง Social Media เน้นช่องทาง TikTok และ Instagram Reels เป็นหลัก 

 

หลังจากที่อธิบายกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น คาดว่าหลายคนคงจะพอมองเห็นความแตกต่างของ STRATEGY VS TACTICS ที่แม้จะมีความใกล้เคียงกันมาก จนหลายครั้งก็แยกไม่ออก แต่สุดท้ายแล้วทั้ง 2 สิ่งก็มีความต่างแต่เกี่ยวข้องกัน และไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการทำธุรกิจได้ หากไม่มีแผนการกระทำก็ไม่เกิด และถ้าหากมีแค่แผนอย่างเดียว ไม่ลงมือทำ ผลลัพธ์ก็ไม่เกิดเช่นกัน