เมื่อการทำธุรกิจยุคใหม่ต้องอาศัยโลกออนไลน์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ เว็บ Search Engine อย่าง Google กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในฐานะช่องทางการนำเสนอสินค้า / บริการ รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดหลายรูปแบบเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เกิดความสนใจ กระทั่งเปลี่ยนเป็นลูกค้าในที่สุด และเมื่อเอ่ยถึงการทำโฆษณาผ่าน Google สิ่งที่คนจำนวนมากคุ้นชินต้องยกให้กับ “Google Ads” โดยปัจจุบันแบ่งออกได้ 5 ประเภทหลัก
5 ประเภท Google Ads เพื่อผลลัพธ์ที่ดีของธุรกิจออนไลน์
1. Search Ads
หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีในชื่อ Google Search จัดเป็นประเภท Google Ads ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคงไม่ใช่เรื่องผิดนัก ด้วยพื้นฐานหลักของเว็บ Search Engine ผู้คนย่อมต้องการเข้ามาเพื่อค้นหาข้อมูลอยู่แล้ว การทำโฆษณาเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นมองเห็นเว็บไซต์ของคุณแล้วกดคลิกเข้าไปจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ตรงกับจุดประสงค์ชัดเจน หลักสำคัญของการทำ Ads ประเภทนี้จำเป็นต้องมี “คีย์เวิร์ด” เพื่อให้คนเสิร์ชแล้วพบเจอกับหน้าเว็บของคุณ
อารมณ์จะคล้ายกับการทำ SEO แต่ง่ายดายกว่าตรงที่ไม่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำอันดับ เมื่อคุณเลือกคีย์เวิร์ด ใส่มูลค่าการ Bid เขียนคำโปรยให้ดึงดูด ก็เริ่มต้นลงโฆษณาได้เลย หน้าเว็บของคุณจะไปอยู่หน้าแรกเมื่อมีคนเสิร์ชคีย์เวิร์ดดังกล่าว กลายเป็นจุดเด่นเพิ่มโอกาสให้คนคลิกเข้ามาค้นหาข้อมูลสินค้า / บริการมากขึ้น โอกาสสร้างยอดขายและผลกำไรย่อมสูงตามด้วยเช่นกัน สนใจรับลงโฆษณา Google ประเภทนี้เรามีบริการครับ
2. GDN (Google Display Network)
GDN ย่อมาจาก Google Display Network หรือแบนเนอร์โฆษณาก็ตามสะดวก เพราะลักษณะของการทำ Google Ads ประเภทนี้ต้องอาศัยการออกแบบทั้งภาพโฆษณา การคิดคำให้น่าสนใจ การดีไซน์ตัวหนังสือให้อยู่บนแบนเนอร์นั้น ๆ คล้ายกับการทำป้ายโฆษณาตามท้องถนน อาคารทั่วไป แต่ช่องทางในการติดตั้งจะเปลี่ยนเป็นเว็บไซต์พันธมิตรของ Google (เว็บไซต์ทั่วไปที่สมัคร Google Adsense เพื่อลงโฆษณากูเกิลบนเว็บไซต์ของเขา)
ยิ่งดีไซน์ภาพออกมาสวย แตกต่าง พรีเซนต์เนื้อหาตรงกับจริตของกลุ่มเป้าหมาย คนก็อยากคลิกเข้าไปชมมากขึ้น ซึ่งระบบอัลกอริทึมของ Google เอง จะเลือกเอาโฆษณาของคุณไปลงตามเว็บพันธมิตรที่มีเนื้อหาใกล้เคียงสินค้า / บริการนั้น ๆ เพิ่มโอกาสให้คนที่เข้าชมซึ่งเดิมทีสนใจเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วก็ยิ่งสะดุดตามากขึ้น
3. Shopping Ads
เป็นรูปแบบการแสดงผล Google Ads ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ หลักเบื้องต้นคุณสามารถใส่ภาพสินค้า / บริการ ราคา และรายละเอียดต่าง ๆ ลงไปได้เลย จากนั้นเมื่อคนเสิร์ชคีย์เวิร์ดที่ตรงหรือใกล้เคียงกับสินค้าดังกล่าวภาพโฆษณาแบบ Shopping Ads ก็จะขึ้นมาเป็นตัวเลือกเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นกว่าเดิม หากพวกเขาสนใจก็สามารถคลิกบนหน้าโฆษณาดังกล่าวเพื่อเชื่อมต่อไปยังแหล่งขายแล้วซื้อได้ทันที
ลักษณะการแสดงผลจะคล้ายกับ Marketplace ซึ่งหนึ่งผลลัพธ์การเสิร์ชจะไม่ได้มีแค่ร้านคุณเท่านั้น เพราะร้านอื่นที่ทำก็จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งด้วย การใส่ข้อมูลให้ดึงดูด น่าสนใจ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด อีกเรื่องที่ควรรู้เว็บไซต์ที่สามารถทำ Google Ads ประเภทนี้ได้ต้องอยู่ในกลุ่มเว็บ E-Commerce เช่น Shopee, Lazada หรือเว็บลงขายสินค้าอื่น ๆ (ขณะที่ธุรกิจขายปลีก ขายส่งเจ้าดัง เจ้าใหญ่ที่ทำหน้าเว็บตนเองให้ออกแนว E-Commerce ก็จะได้เปรียบกับการโฆษณาลักษณะนี้) และต้องทำการสมัคร Google Merchant Center ด้วย
4. Video Ads
หรือจะเรียก YouTube Ads ก็ไม่ต่างกัน เพราะนี่คือช่องทางที่คุณสามารถนำเอาคลิปโฆษณาที่มีการเคลื่อนไหวนำเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ หากนึกภาพไม่ออกก็โฆษณาที่มักคั่นระหว่างคลิป โฆษณาเปิดหัว หรือตอนจบคลิป ไปจนถึงแบนเนอร์ที่ขึ้นมาระหว่างรับชม เป็นต้น ซึ่งประเภทของ Video Ads ก็ยังแยกตามการนำเสนอของ YouTube ได้อีกเยอะมาก ประกอบไปด้วย
- Display Ads ภาพแบนเนอร์มักปรากฏด้านขวาล่างคล้ายกับ Display Ads ลงตามเว็บ
- Overlay Ads คลิปโฆษณาบนหน้าจอแทนรายการหลัก สามารถกด Skip ได้
- Skippable Video Ads โฆษณาหลักก่อนเริ่มดูคลิป มีการบังคับให้ดูใน 5 วินาทีแรก แล้วจะดูต่อหรือ Skip ก็ไม่มีปัญหา รวมถึงบ่อยครั้งยังมีการตัดคั่นกลางระหว่างรับชมคลิปด้วย
- Non-skippable Video Ads จะคล้าย ๆ กับ Skippable Video Ads แต่ผู้รับชมจะไม่สามารถ Skip ข้ามได้ ต้องดูจนจบ ลักษณะเนื้อหาจึงเน้นเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาน้อยแต่ครบถ้วนทุกการสื่อสาร
- Bumper Ads แบบเดียวกับ Non-skippable Video Ads แต่จะเล่นเพียงแค่ 6 วินาที เท่านั้น
- Sponsor Cards มักปรากฏอยู่ด้านข้างฝั่งขวาของหน้าจอ จะแสดงผลเมื่อคนคลิกเข้าชมเรื่องที่ใกล้เคียงกับประเภทสินค้า / บริการ ที่คุณกำหนดไว้
5. Application
Google Ads ประเภทสุดท้ายถูกใช้งานบนมือถือเป็นหลักเพราะจะทำหน้าที่นำเสนอโฆษณาของแอปพลิเคชันทั้งบนเว็บไซต์ YouTube ไปจนถึง Google Play Store เพื่อจุดประสงค์สำคัญให้คนเห็นแล้วอยากตัดสินใจดาวน์โหลดโดยไม่ต้องค้นหาให้ยุ่งยาก แค่กดโฆษณาดังกล่าวก็พร้อมติดตั้งแอปบนมือถือทันที ด้วยยุคนี้มือถือกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิต โฆษณา Google Ads ผ่าน Apps จึงน่าสนใจมากทีเดียว
นี่คือทั้ง 5 ประเภท Google Ads ที่ยังคงได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ธุรกิจบนโลกออนไลน์กลายเป็นช่องทางเข้าถึงอันดับต้น ๆ ของผู้คน ธุรกิจแต่ละประเภท หรือสินค้า / บริการจะเหมาะกับ Ads ประเภทไหนก็ต้องลองวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจทำดู อีกสิ่งที่อยากเน้นย้ำคือต้องพยายาม Remarketing หรือทำโฆษณาซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ให้คนคุ้นชิน รู้จักแบรนด์ของคุณ จนกล้าตัดสินใจซื้อ ก็จะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีของการลงทุนด้านการตลาดออนไลน์ด้วย
ปัจจุยัน Google Ads มีแคมเปญแบบ Performance Max เปิดตัว 2 พฤศจิกายน 2021 คือ แคมเปญที่เมื่อเราสร้างขึ้นมาเพียงแค่แคมเปญเดียวโฆษณาก็จะไปแสดงตามช่องทาง (Placements) ต่าง ๆ ของบริการ Google ได้ทั้งหมด จากปกติที่เมื่อเราสร้างแคมเปญแล้วอยากจะให้ไปที่ Placements ไหน สามารถเลือกได้เพียงทีละ Placement เท่านั้น