เมื่อเว็บไซต์กลายเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจยุคปัจจุบัน เปรียบกับหน้าร้านบนโลกออนไลน์ การทำ SEO เพื่อติดอันดับหน้าแรกของการค้นหาจึงต้องให้ความสำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่แค่การออกแบบด้านความสวยงาม การใส่บทความให้ตอบโจทย์กับคีย์เวิร์ดที่ใช้เท่านั้น แต่ “Site Structure” หรือ โครงสร้างเว็บไซต์ก็เป็นอีกจุดที่จะช่วยดันอันดับให้ตรงตามเป้าหมายที่คาดหวัง คำถามคือ Site Structure คืออะไร แล้วสำคัญมากแค่ไหนมาค้นหาข้อมูลกันเลย

Table of Contents

Site Structure คืออะไร

โครงสร้างเว็บไซต์ หรือ Site Structure คือ แผนผังที่จะระบุการเชื่อมโยงรายละเอียดต่าง ๆ บนหน้าเว็บไซต์เพื่อจัดระเบียบของเว็บให้น่าสนใจ บ่งบอกเนื้อหาหลัก เนื้อหารองชัดเจน คนที่คลิกเข้ามารับชมไม่เกิดความสับสน เหนือสิ่งอื่นใดยังทำให้ Google Bot ซึ่งเป็นอัลกอริทึมประเภทหนึ่งของ Google เกิดความเข้าใจ สามารถค้นหาและจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการบนหน้าเว็บได้อย่างครบถ้วน แต่ละหน้ามีลิงก์ (Link) เชื่อมต่อเข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน ส่งผลต่อการจัดอันดับ SEO ให้ดีขึ้น

ความสำคัญของการมี Site Structure ที่ดี

1. สร้างประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับผู้เยี่ยมชม

หากคุณมี Site Structure ของเว็บไซต์ที่ดี สิ่งแรกที่จะได้รับโดยตรงนั่นคือความพึงพอใจ ความประทับใจของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม คลิกไปยังหน้าต่าง ๆ ง่ายดาย ไม่ต้องรอดาวน์โหลดหรือคลิกหลายต่อให้ปวดหัว ซึ่งการที่คนเหล่านี้สัมผัสกับประสบการณ์สุดยอดเยี่ยมย่อมทำให้พวกเขาอยากกลับมาดูซ้ำใหม่อีกหลายรอบ โอกาสตัดสินใจซื้อก็เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่ออันดับคะแนนทำ SEO อีกด้วยในฐานะเว็บที่มีความ Friendly

2. Search Engine เข้าใจง่าย อันดับทำ SEO ดีขึ้น

อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่าเมื่อเว็บไซต์ของคุณมีโครงสร้างที่ดี นอกจากตัวบุคคลจริงที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์แล้ว Google Bot ซึ่งเป็นอัลกอริทึมของเว็บ Search Engine ยังเกิดความเข้าใจ สามารถลิงก์เนื้อหาแต่ละหน้าเชื่อมโยงกันรวดเร็ว พบเจอเนื้อหาทั้งหมดที่ต้องการครบถ้วนเพราะมีไกด์นำทางชั้นยอดวางระบบเอาไว้แบบครบถ้วน ดังนั้นการจัดอันดับสำหรับทำ SEO จะดีขึ้นจนสังเกตเห็นภายในเวลาอันรวดเร็ว

3. การได้รับ Google Sitelinks มีมากขึ้น

Google Sitelinks คือ ลิงก์ที่แสดงผลคำค้นหาซึ่งอยู่ด้านล่าง Title & Description ของเว็บคุณ เพิ่มจำนวนคนคลิกเข้าหาจากการได้อ่านข้อมูลภายในเว็บว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังค้นหาอยู่บ้าง รวมถึงยังสร้างความน่าเชื่อถือ สร้าง Brand Awareness ได้อีกด้วย

4. จัดการเนื้อหาภายในเว็บไซต์ง่าย

เมื่อมี Site Structure ที่ดี คนทำเว็บก็จะรู้ว่าหน้าไหนควรวางเนื้อหาอย่างไร แต่ละกลุ่มต้องใช้หัวข้อแบบไหนให้เข้ากับธีมมากที่สุด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่ม-ลดรายละเอียด ทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องปรับใหม่บ่อย ๆ ให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ

รูปแบบของ Site Structure ที่ได้รับความนิยม

1. โครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchical Site Structure)

โครงสร้างแบบต้นไม้ (Hierarchical site structure) คือ ลักษณะโครงสร้างเว็บคล้ายแผนผังต้นไม้ไล่เรียงจากบนลงล่าง หน้าหลัก หน้ารอง หน้าย่อยต่าง ๆ เชื่อมโยงแยกหมวดหมู่กันชัดเจน Google Bot และคนที่คลิกเข้ามารับชมเข้าใจง่าย เหมาะกับเว็บทุกประเภท ถือเป็นโครงสร้างเว็บไซต์ที่พบมากสุด

2. โครงสร้างเว็บแบบเส้นตรง (Linear Site Structure)

โครงสร้างเว็บแบบเส้นตรง (Linear site structure) คือ รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาตามลำดับซึ่งจะเริ่มต้นจาก Homepage แล้วไล่เรียงต่อกันไป 1, 2, 3, … ผู้เยี่ยมชมต้องไล่อ่านทีละหน้าไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่มักพบเจอกับเว็บที่เนื้อหาไม่มากนัก เช่น เว็บ E-Book, คอร์สเรียนออนไลน์

3. โครงสร้างเว็บแบบเชื่อมโยงอิสระ (Webbed Site Structure)

โครงสร้างเว็บแบบเชื่อมโยงอิสระ (Webbed Site Structure) คือ ลักษณะโครงสร้างเว็บที่ไม่ตายตัวทุกหน้าเชื่อมโยงถึงกันได้หมดเพื่อลดจำนวนการคลิกเข้าถึง นิยมใช้งานกับเว็บกลุ่ม E-Commerce ซึ่งมีหน้าย่อยเยอะ แต่การคลิกกลับไปหน้าเว็บก่อนหน้ายังทำได้ง่าย

4. โครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูล (Database Site Structure)

โครงสร้างเว็บไซต์แบบฐานข้อมูล (Database site structure) คือ รูปแบบโครงสร้างเว็บที่ไล่จากล่างขึ้นบนเพื่อบอกว่าหัวข้อย่อยต่าง ๆ ควรอยู่หน้าไหน หมวดหมู่ใด มักใช้กับเว็บที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดึงข้อมูลต่าง ๆ มาใช้อย่างง่ายดาย

5. โครงสร้างเว็บไซต์แบบไซโล (Silo SEO Structure)

หรือจะเรียกอีกอย่างว่า Hybrid Structure (โครงสร้างเว็บไซต์แบบผสม) ก็ไม่ผิดนัก หลักการคือ จะใช้โครงสร้างเว็บแบบต้นไม้กับแบบอื่น ๆ มาผสมกันเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์การนำเสนอ เนื้อหาจะมีลิงก์คอยเชื่อมโยงในแต่ละหมวดหมู่ แต่ทั้งนี้ต้องมีการวางแผนอย่างดีและจัดระเบียบเว็บให้ครอบคลุม

เทคนิคการทำ Site Structure ที่มีประสิทธิภาพ

1. เข้าใจเป้าหมายการทำเว็บ

ลำดับแรกคุณต้องรู้ว่าในการทำเว็บมีเป้าหมายอะไร เช่น ขายสินค้า ให้ข้อมูล ข่าวสารความรู้ เว็บบอร์ด เมื่อรู้จุดประสงค์ชัดเจนจะทำให้การเลือก Site Structure ง่ายและตรงกับสิ่งที่ต้องการ

2. ศึกษา Site Structure ของคู่แข่ง

ลองประเมิน Site Structure ของเว็บคู่แข่งหลาย ๆ เจ้าว่ามีลักษณะอย่างไร แบบไหนดูแล้วน่าสนใจ มีลูกเล่น โดดเด่น หรือแต่ละหน้ามีการแบ่งลิงก์แยกออกไปกี่ส่วน ยิ่งคู่แข่งติดอันดับหน้าแรกด้วยแล้วจะทำให้คุณนำข้อมูลกลับมาวางแผนได้ง่ายขึ้น

3. เชื่อมโยงหน้าต่าง ๆ เข้าหากันด้วย URL เข้าใจง่าย

ทำ Internal Link เพื่อเชื่อมโยงแต่ละหน้าบนเว็บให้เข้าถึงกันไล่เรียงตามลำดับจากหน้าหลัก หน้ารอง และหน้าย่อย ซึ่งลิงก์ URL นี้ต้องเน้นสั้น กระชับ พยายามมีคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ไม่ต้องยัดเยียด

4. อย่าลืมทดสอบเว็บก่อนเปิดใช้จริง

ท้ายที่สุดต้องทดสอบประสิทธิภาพของเว็บหลังจากวาง Site Structure มาครบถ้วนว่าเป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ หากมีจุดไหนยังไม่ชอบใจหรือผิดพลาดก็สามารถแก้ไขได้ทัน

สรุป

Site Structure คือ อีกหัวใจสำคัญที่ทุกเว็บไซต์ต้องเริ่มต้นวางแผน จัดหมวดหมู่ เลือกแนวทางที่จะใช้ เพิ่มโอกาสในการทำอันดับ SEO ให้สูงขึ้น รวมถึงยังทำให้ผู้เยี่ยมชมเกิดประสบการณ์ที่ดีและอยากกลับมาซ้ำพร้อมบอกต่อคนอื่นอีกด้วย ดังนั้นอย่ามองข้ามกับเรื่องโครงสร้างเว็บไซต์เป็นอันขาด