UTM คืออะไร เรื่องคนทำการตลาดบนเว็บไซต์ จำเป็นต้องทำ
UTM คืออะไร อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหู หรือบางคนก็อาจจะไม่เคยได้ยินเลย แต่ที่แน่ๆ ถ้าหากทำการตลาดบนเว็บไซต์ ควรจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะเกี่ยวกับการวัดประสิทธิภาพของการทำการตลาดแต่ละช่องทาง และนำผลลัพธ์ไปวิเคราะห์ต่อ เพื่อวางแผนการตลาดอนาคตได้
UTM คืออะไร?
UTM คือ Parameters หรือตัวแปรต่างๆ ที่ถูกใส่เข้าไปในท้าย URL โดย UTM ย่อมาจาก Urchin Tracking Modules การใส่ตัวแปรดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการติด Tag ว่าคนที่คลิก URL นั้นมา เป็นการคลิกจากแหล่งไหน เพื่อวัดผลลัพธ์ว่าช่องทางใดที่นำคนเข้ามาใน URL นั้นได้ดีที่สุด สามารถต่อยอดอย่างไรได้บ้าง และอาจวิเคราะห์ต่อไปว่าช่องทางที่นำคนเข้ามาไม่ดีนั้น เกิดจากอะไร อาจจะนำช่องทางที่นำคนเข้ามาได้ดีและไม่ดีมาเปรียบเทียบเพื่อหาข้อแตกต่าง และทำให้ดีขึ้นได้
ความสำคัญของ UTM คืออะไร?
ความสำคัญของ UTM คือการวัดผลลัพธ์เป็นหลัก หากไม่มีการติด UTM จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนที่คลิกลิงค์เข้ามา คลิกเข้ามาจากทางไหน โดยเฉพาะถ้าหากมีการนำลิงค์ไปแปะไว้หลายแห่ง แต่ถ้าหากมีการติด UTM เอาไว้ ก็จะแยกได้ว่าผู้ที่คลิกลิงค์เข้ามานั้น คลิกจากอะไรหรือคลิกจากแหล่งไหนบ้าง แต่ละช่องทางที่นำคนเข้ามาในเว็บนั้นมีจำนวนเท่าไรบ้าง
การเก็บผลลัพธ์ส่วนนี้ จะช่วยให้สามารถพัฒนาการสื่อสารในเรื่องของการเลือกช่องทางได้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่องทางที่ต้องเสียเงิน ช่องทางที่มีค่าใช้จ่าย จำเป็นต้องติด UTM เพื่อให้รู้ว่าช่องทางนั้นควรจ่ายเงินต่อไปหรือไม่
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ หากต้องการให้คนเข้ามาในเว็บไซต์ที่ชื่อว่า www.abc.com จึงได้ทำการโปรโมทเว็บไซต์ด้วยหลากหลายวิธีการ แบ่งออกเป็น
- การนำลิงค์ไปแปะในบทความ SEO
- การนำลิงค์ไปแปะในเว็บบอร์ด
- การนำลิงค์ไปแปะใน Caption Facebook
- การจ้าง Influencer ให้ทำคลิปรีวิวสินค้าและแปะลิงค์เว็บเอาไว้
หากไม่มีการติด UTM และนำ www.abc.com ไปแปะเลยทั้ง 4 ช่องทาง เมื่อมีคนเข้าเว็บไซต์มาสมมติว่า 1,000 คน ก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า 1,000 คนนั้น ใครคลิกลิงค์เข้ามาทางไหนบ้าง
ดังนั้นถ้าอยากรู้ ควรจะติด UTM เอาไว้ด้วยจะดีที่สุด เมื่อติด UTM แล้ว URL www.abc.com จะมีส่วนต่อท้าย ซึ่งทั้ง 4 ช่องทางจะมีส่วนต่อท้ายที่แตกต่างกันออกไป
องค์ประกอบของ UTM คืออะไรบ้าง
มาดูองค์ปะกอบหลักๆ ของ UTM ซึ่งจะมี 3 อย่าง ได้แก่
utm_source
Source ในส่วนนี้มักใช้บอกแหล่งที่มาของผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ เช่น มาจาก Website มาจาก Facebook หรือมาจาก Twitter เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นการแบ่งประเภท Source ของแต่ละธุรกิจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางธุรกิจอาจไม่ได้ใช่ Platform ในการแบ่งประเภทของ Source ก็ได้ เมื่อกำหนดแล้วว่าจะให้ Source มีอะไรบ้าง คราวนี้ตอนติด UTM จะต้องระบุ Source ลงไป ซึ่งในหน้าต่างสำหรับติด UTM จะมีช่องให้กรอกหลายช่อง และมีช่องหนึ่งที่ระบุว่า Source ก็กรอกลงไปในช่องนั้น เมื่อใส่รายละเอียดของ Source ลงไป แล้วมีคนคลิกลิงค์ ก็จะปรากฏข้อมูลว่ามีคนคลิกลิงค์จาก Source นั้นเท่าไร
utm_medium
Medium เป็นส่วนที่บอกวิธีการเข้ามาในเว็บไซต์ กล่าวคือเมื่อมีคนเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ ก็จะแสดงให้เห็นว่าคนนั้นเข้ามาด้วยวิธีใด เช่น เข้ามาด้วยวิธีการคลิกลิงค์ หรือคลิกปุ่มที่แปะอยู่ในบทความ หรือคลิกที่แบนเนอร์โฆษณา เป็นต้น ส่วนนี้จะต้องมีการแบ่งประเภทของวิธีการเข้าสู่เว็บไซต์เอาไว้ และตอนติด UTM ก็จะต้องกรอกวิธีการนั้นๆ ลงไปในช่อง Medium
utm_campaign
Campaign เป็นส่วนที่บอกว่าแคมเปญที่ทำนั้นคืออะไร โดยแต่ละแบรนด์จะมีการกำหนดแคมเปญขึ้นมา เมื่อถึงตอนโปรโมทเว็บไซต์ และติด UTM จะมีการใส่ชื่อแคมเปญนั้นลงไปด้วย จะได้รู้ว่าคนที่คลิกลิงค์เข้ามา เข้ามาจากแคมเปญไหน จะได้รู้ว่าแคมเปญแต่ละอันมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง
โดยองค์ประกอบที่กล่าวมานี้เป็นองค์ประกอบหลักๆ ของการติด UTM แต่นอกจากนี้อาจมีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้บางธุรกิจที่ต้องการข้อมูลละเอียดมากๆ สามารถเพิ่มองค์ประกอบในการติด UTM ลงไปอีกได้
ช่องทางการติด UTM คืออะไร
แนะนำช่องทางการติด UTM คือ Campaign URL Builder สามารถค้นหาคำนี้ได้เลย หรือคลิกที่นี่ เมื่อเข้าไปแล้วจะมีหน้าต่างที่มีช่องให้กรอกหลายช่อง
- ช่อง website URL ให้ใส่ URL ที่ต้องการวัดผลลงไป
- ช่อง campaign source ให้ใส่แหล่งที่มาลงไป เช่น Website, Facebook, Twitter เป็นต้น
- ช่อง campaign medium ให้ใส่วิธีการลงไป เช่น Click Button (การคลิกปุ่ม), Click Banner (การคลิกแบนเนอร์) เป็นต้น
- ช่อง campaign name ให้ใส่ชื่อแคมเปญลงไป เช่น SEO content (แคมเปญการทำบทความ SEO), Influencer (การใช้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยโปรโมทเว็บไซต์) เป็นต้น
ช่องที่จำเป็นต้องกรอกคือ 4 ช่องนี้ นอกจากนั้นจะกรอกหรือไม่กรอกก็ได้ เมื่อกรอกตามที่ต้องการครบแล้ว เลื่อนลงไปที่ช่อง Share the generated campaign URL จะมีลิงค์ที่ติด UTM อยู่ สามารถกด Copy เพื่อนำไปใช้ได้เลย สำหรับการดูผลลัพธ์จะต้องเข้าไปที่ https://analytics.google.com/
กล่าวโดยสรุป UTM คือ การติดตามว่าคนเข้ามาในเว็บไซต์นั้น มาจากช่องทางไหน มาจากวิธีการใด มาจากแคมเปญอะไร ซึ่งจะได้รู้ว่าช่องทางไหนทำงานได้ดี ช่องทางไหนควรตัดทิ้ง แคมเปญอะไรได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร