Copywriting คืออะไร ส่วนประกอบของโฆษณาที่สำคัญกับการขายภายในข้อจำกัด

 

Copywriting คืออะไร? แม้จะเป็นที่คุ้นเคยหรือได้ยินบ่อยครั้ง แต่ก็ยังมีหลายคนที่สงสัยในเรื่องนี้อยู่ดี และเพื่อทำความเข้าใจ บทความนี้ก็ได้นำเอาความหมายเชิงอธิบายรวบรวมไว้ให้แล้ว พร้อมทั้งยังได้ยกประเภทสื่อโฆษณาที่เหมาะกับการทำ Copywriting ซึ่งมีความหลากหลาย ดังนี้

 

Copywriting คืออะไร?

 

Copywriting คือ เนื้อหาที่มีลักษณะเป็นคำสั้นๆ เจาะจงไปที่คำโฆษณาเป็นหลัก พวกคำขายสินค้า คำโน้มน้าวจิตใจ รวมถึงสโลแกนสินค้า ที่เป็นประโยคสั้นๆ แต่สร้างความจดจำต่อแบรนด์ได้ หากเป็นคำขายสินค้าจะมีความสั้นกระชับ แต่กระตุ้นการซื้อได้ ผ่านชิ้นงานโฆษณาที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้จำนวนคำ 

 

สิ่งที่โดดเด่นของ Copywriting คือสารที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการเลือกใช้คำที่สามารถสื่อสารด้วยคำสั้นๆ แต่มีใจความไม่ตกหล่น ตอบวัตถุประสงค์ได้ ผู้รับสารสามารถเข้าใจสารนั้นได้โดยไม่ต้องอธิบายยาวๆ 

 

สื่อที่เหมาะกับ Copywriting คืออะไรบ้าง?

 

สื่อที่เหมาะกับ Copywriting ส่วนใหญ่เป็นสื่อที่มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนคำ ส่วนมากเป็นพวกป้ายโฆษณา ที่มีจุดประสงค์โน้มน้าวด้วยคำสั้นๆ คนเห็นแล้วจำ อ่านสั้นๆ แล้วเข้าใจ ดังนี้ 

 

1.Banner โฆษณา

 

เริ่มกันที่สื่อโฆษณาแรกที่เหมาะกับ Copywriting คือ Banner โฆษณา เป็นสื่อโฆษณาบนโลกออนไลน์ ที่ปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะเว็บบล็อกและเว็บข่าว รวมถึงเว็บไซต์ประเภทที่เป็นนิตยสารออนไลน์ หากใครเคยเยี่ยมชมเว็บไซต์เหล่านี้ คงจะคุ้นเคยดีกับ Banner โฆษณาที่ปรากฏตามตำแหน่งต่างๆ บนเว็บ บาง Banner ขึ้นเป็นหน้าต่างต้อนรับก่อนอ่านข้อความในเว็บไซต์ ต้องกดกากบาทที่มุมหน้าต่างเพื่อปิดก่อน จึงจะสามารถอ่านเนื้อหาในเว็บนั้นได้ แน่นอนว่าคนที่ตั้งใจเข้าไปอ่านเนื้อหาในเว็บ เมื่อเจอ Banner โฆษณามาขวาง ย่อมกดกากบาทปิดอย่างรวดเร็ว

 

ดังนั้นข้อความที่สื่อออกไป จำเป็นต้องสั้นกระชับ เพื่อดึงดูดให้คนหยุดอ่านก่อนที่จะตัดสินใจปิดหน้าต่างนั้นข้อความโน้มน้าวในลักษณะ Copywriting จึงเหมาะกับ Banner โฆษณา รวมถึง Banner ตำแหน่งอื่นๆ เช่น บนหัวเว็บไซต์ หรือด้านข้างบทความหลัก รวมถึงด้านล่างของบทความหลัก ทุกตำแหน่งล้วนต้องสั้นกระชับ ได้ใจความ สามารถโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายให้หยุดอ่านและคลิกโฆษณาเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้

 

นอกจากในเว็บไซต์จำพวกเว็บบล็อก เว็บข่าวแล้ว ปัจจุบัน YouTube ก็มีโฆษณาในลักษณะของ Banner ปรากฎอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างตำแหน่งด้านล่างของคลิปที่ขึ้นค้างไว้และมีปุ่มกากบาทมุมบนให้สามารถกดปิดโฆษณาได้ 

2.ป้ายโฆษณา 

 

พวกป้ายโฆษณาตามจุดต่างๆ เช่นบน  Billboard ที่มีอยู่ทั่วไป ทั้งที่ป้ายรถเมล์ Billboard มอเตอร์เวย์ 

Billboard ตามถนนหนทาง หรือพวกโฆษณาบนจอ LCD ที่สลับสับเปลี่ยนโฆษณาไปเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องอาศัยข้อความในลักษณะของ Copywriting ป้ายโฆษณาเหล่านี้ ไม่สามารถสื่อสารเนื้อหายาวๆ ได้ ส่วนมากมักสื่อสารกับคนที่กำลังสัญจร ไม่นิยมอ่านอะไรยาวๆ อย่างแน่นอน ทำให้ป้ายโฆษณาเหล่านี้จะต้องสั้นกระชับ มีการออกแบบภาพให้ดึงดูด เพื่อกระตุ้นความสนใจและอ่านข้อความเหล่านั้น 

 

3.วิดีโอโฆษณา

 

แม้ว่าวิดีโอโฆษณาจะสื่อสารเป็นภาพเคลื่อนไหว แต่ข้อความนโฆษณาก็ยังต้องสั้นกระชับ ยิ่งเป็นภาพที่เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ มีการเปลี่ยนเฟรมและเปลี่ยนข้อความไปตามเฟรม ข้อความทุกๆ เฟรมจะต้องสั้นและได้ใจความ อ่านแล้วเข้าใจว่าจะสื่อสารอะไร และสามารถโน้มน้าวหรือกระตุ้นความต้องการกลุ่มเป้าหมายได้ด้วย ทำให้ Copywriting ถูกนำมาใช้ในสื่อประเภทวิดีโอโฆษณาด้วย โดยเฉพาะวิดีโอโฆษณาสั้นไม่เกิน 1 นาที ข้อความต้องสั้นกระชับและโน้มน้าวให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันวิดีโฆษณาจะปรากฏที่โทรทัศน์, YouTube และบนแอปพลิเคชั่นที่เปิดใช้งานฟรีต่างๆ

 

4.โพสต์บน Social media 

 

โพสต์บน Social media ที่ปรากฏบนหน้าฟีด ในลักษณะของโฆษณาหรือ Sponsored ก็ต้องอาศัย Copywriting เช่นกัน เพราะการที่คนเลื่อนดูเนื้อหาบนฟีดไปเรื่อยๆ ยากที่จะหยุดอ่านเนื้อหายาวๆ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับการขาย ดังนั้นหากมีการปล่อยภาพโฆษณาในลักษณะของโพสต์ก็จำเป็นต้องใช้ข้อความสั้นดึงดูด เพื่อให้หยุดอ่านและกดอ่านเพิ่มเติมเพื่อขยายความ Copywriting นั้นๆ 

 

5.แทรกในสิ่งพิมพ์

 

หากใครเคยซื้อสิ่งพิมพ์อย่างพวกหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร น่าจะเคยเห็นโฆษณาแทรกในนั้น อย่างในนิตยสารอาจมีโฆษณาเล็กๆ ที่มุมหนึ่งของหน้าเนื้อหาหนึ่ง หรืออาจเป็นหน้าหนึ่งเต็มๆ ทั้งหน้าที่เป็นโฆษณานั้น ก็มักต้องใช้ Copywriting เว้นแต่ว่าจะเป็นการติดต่อนิตยสารเพื่อลงบทความโปรโมทแบรนด์แบบยาว แต่นั่นจะไม่ใช่การโฆษณาโน้มน้าวให้ซื้อ เพราะถ้าเป็นบทความยาวมักเป็นการประชาสัมพันธ์ หรือเป็นการให้ข้อมูลเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้ามาเรียนรู้ แต่ถ้าหากยังเป็นเนื้อหาโฆษณา ก็ยังคงสื่อสารด้วย Copywriting เช่นเคย หนังสือพิมพ์ก็เช่นกันที่จะมีโฆษณาแฝงตามจุดต่างๆ ให้ได้เห็น

คนที่ทำหน้าที่เขียน Copywriting คือใคร

 

คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องของ Copywriting คือ Copywriter ที่มีหน้าที่คิดคำโฆษณาเก๋ๆ ได้ใจความและกระตุ้นการซื้อได้ บางแห่งอาจยกให้เป็นหน้าที่ของครีเอทีฟ ที่มีหน้าที่ครอบคลุมหลายอย่าง ทั้งคิดและเขียนสคริปต์ และสามารถเขียน  Copywriting ได้ด้วย

 

หวังว่าทุกคนคงจะพอเข้าใจแล้วว่า Copywriting คืออะไร หลักๆ เลยก็คือคำโฆษณา ที่มีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าว ให้เกิดการซื้อ แต่ก็อาจจะโน้มน้าวให้ทำอย่างอื่นได้ด้วย เช่น โน้มน้าวให้สมัครสมาชิก โน้มน้าวให้คลิกเพิ่มเติม โน้มน้าวให้เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อทำความรู้จักกับแบรนด์ ทำให้ Copywriting นอกจากจะช่วยเรื่องการขายแล้ว ยังช่วยเรื่องการสร้างการรับรู้เป็นหลักอีกต่างหาก บางคนอาจไม่ซื้อแต่ก็รับรู้ว่ามีสินค้าหรือแบรนด์นั้นอยู่ในท้องตลาด และสามารถนำไปบอกต่อได้ ซึ่งยังคงเป็นประโยชน์กับแบรนด์