การสร้างแบรนด์ คืออะไร สร้างภาพจำให้แบรนด์ดูแตกต่างต้องทำไงบ้าง

 

การสร้างแบรนด์ (Branding) คืออะไร มีวิธีการไหนบ้าง หากทำธุรกิจแล้วไม่สร้างแบรนด์ได้หรือไม่ แล้วการสร้างแบรนด์จะยุ่งยากหรือเปล่า ที่บทความนี้มีคำตอบมาให้แล้วเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ เพื่อให้คนทำธุรกิจหรือนักการตลาดทั้งหลาย นำไปปรับใช้ให้เหมาะสม เมื่อการสร้างแบรนด์อาจสำคัญมากกว่าที่ใครหลายคนคิด 

 

การสร้างแบรนด์ คืออะไร

 

การสร้างแบรนด์ คือการสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ เพื่อนำไปสู่การจดจำ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างภาพจำให้กับธุรกิจ การสร้างภาพจำให้กับสินค้าและชื่อของสินค้า การสร้างแบรนด์ประกอบไปด้วยหลายส่วนด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะส่งผลต่อการรับรู้และความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มเป้าหมายด้วย บางครั้งอาจต้องพึ่งพาหลักการทางจิตวิทยา เพื่อประกอบการสร้างแบรนด์

 

การสร้างแบรนด์ มีอะไรบ้าง

 

มาดูกันว่าการสร้างแบรนด์จะมีอะไรบ้าง โดยในหัวข้อนี้จะยกตัวอย่างถึงการกระทำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบรนด์

 

1.การตั้งชื่อแบรนด์

 

เรื่องแรกกับการสร้างแบรนด์ คือการตั้งชื่อแบรนด์ ทุกธุรกิจที่ต้องการสร้างแบรนด์จะต้องมีชื่อแบรนด์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายจดจำชื่อแบรนด์เอาไว้ ท่ามกลางสินค้าที่มีเหมือนกันในท้องตลาด หรือเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ชื่อแบรนด์จะทำให้แยกแยะสินค้าเหล่านั้นได้ การตั้งชื่อแบรนด์ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องตั้งชื่อแบบไหน 

 

บางแบรนด์เลือกตั้งชื่อให้สอดคล้องกับตัวสินค้าด้วย เช่น ปังเว้ยเห้ย ชาตรามือ สุกี้ตี๋น้อย เป็นต้น แต่บางแบรนด์ก็อาจตั้งชื่อโดยไม่มีคำที่เกี่ยวกับสินค้าเข้ามาในชื่อแบรนด์เลยก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้หลักสำคัญของการตั้งชื่อแบรนด์ คือเพื่อให้คนจำได้ ส่วนใหญ่แล้วชื่อแบรนด์มักจะไม่ยาวมาก เพื่อให้จำง่าย

2.การออกแบบ Logo

 

ถัดมากับการสร้างแบรนด์ คือการออกแบบ Logo เพื่อสื่อสารถึงชื่อแบรนด์ที่ทำให้คนจำง่าย หลายครั้งที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเขียนชื่อระบุลงไป เพียงแต่มี Logo แบรนด์ประทับอยู่ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นการสื่อสารถึงแบรนด์ไหน ยกตัวอย่างเช่น Logo ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องหมายติ๊กถูกของ Nike, Logo ตัว M สีเหลืองของแมคโดนัลด์, Logo รูปไซเรนของแบรนด์ Starbuck หรือ Logo เพชรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นต้น 

 

โดยในการออกแบบโลโก้แต่ละแบรนด์ แม้จะเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป แต่การดีไซน์จะต้องทำให้แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ เช่น เครื่องหมายติ๊กถูกของ Nike ที่มีรูปร่างเฉพาะ ไม่เหมือนกับเครื่องหมายติ๊กถูกทั่วไป หรือตัว M ของแมคโดนัลด์ ที่ไม่เหมือนกับ Front ตัวหนังสือทั่วๆ ไปเช่นกัน แสดงให้เห็นว่านั่นคือการสร้างแบรนด์ให้แตกต่างและเป็นที่จดจำ นอกจากการดีไซน์รูปร่างแล้ว การเลือกใช้สีก็สำคัญกับการสร้างแบรนด์ด้วย จะเห็นว่าโลโก้ของแต่ละแบรนด์ก็มีสีเฉพาะ ซึ่งมักจะเป็นสีประจำแบรนด์ด้วย 

 

3.การออกแบบผลิตภัณฑ์ 

 

อีกหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เพื่อเอกลักษณ์ของแบรนด์ จะเห็นว่ารูปลักษณ์ของโทรศัพท์ iPhone ภายใต้แบรนด์ Apple นั้นแตกต่างด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมโค้งมันที่เป็นเอกลักษณ์ มองไกลๆ ก็รู้ทันทีว่าเครื่องนี้เป็นของ Apple หรือแม้แต่การสร้างสรรค์รสชาติเฉพาะตัวของแบรนด์ในสินค้าอาหาร จะเห็นว่าไก่ทอด KFC กับไก่ทอดแมคโดนัลด์ นั้นมีรสชาติที่แตกต่างกัน นั่นเองที่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างและเป็นที่จดจำ แม้แต่น้ำโคล่าสีดำเหมือนกันระหว่างโค้กและเป๊ปซี่ ก็มีรสชาติที่ไม่เหมือนกัน

 

4.การสื่อสาร

 

การสื่อสารก็ถูกนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ด้วย ที่จริงแล้วการออกแบบโลโก้ การตั้งชื่อแบรนด์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสาร แต่มากไปกว่านั้นการสื่อสารลักษณะอื่นๆ ก็ถูกนำมาอยู่ในการสร้างแบรนด์ อย่างเช่นการเลือกใช้สำนวนในการสื่อสารผ่านข้อความต่างๆ บางแบรนด์ต้องการให้แบรนด์ดูแพงและมีความเป็นมืออาชีพ ก็อาจสื่อสารด้วยสำนวนกึ่งทางการ แต่บางแบรนด์ต้องการให้เข้าถึงง่าย จับต้องได้ และเป็นกันเอง ก็จะสื่อสารด้วยสำนวนที่เป็นมิตร และอาจจะขี้เล่นด้วย เป็นต้น 

5.การตั้งราคา

 

ต่อมาในเรื่องการสร้างแบรนด์ คือการตั้งราคาก็อาจเป็นวิธีการสร้างแบรนด์สำหรับบางแบรนด์ หากแบรนด์ที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง หรือเจาะกลุ่มตลาดบน ย่อมไม่ตั้งราคาถูก เพราะนั่นคือภาพลักษณ์หนึ่งของแบรนด์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะตั้งราคาสูงเพียงอย่างเดียว เพราะราคาก็ต้องสัมพันธ์กับคุณภาพของสินค้าหรือบริการด้วย ลองสังเกตว่าพวกสินค้าแฟชั่นแบรนด์ที่ตั้งราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่นนั้น มักสร้างแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ Luxury และมีการสื่อสารถึงคุณสมบัติสินค้าที่สมฐานะของแบรนด์ ไม่ว่าจะด้วยวัสดุที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป หรือแม้แต่งานดีไซน์ที่มาจากดีไซเนอร์ชื่อดัง เหล่านั้นล้วนสัมพันธ์กับการตั้งราคาที่รวมอยู่ในส่วนของการสร้างแบรนด์ทั้งหมด 

 

อีกเคสหนึ่งที่อยากยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ นั่นคือเบียร์สิงห์และเบียร์ช้าง ที่เบียร์สิงห์มีการตั้งราคาที่สูงกว่าเบียร์ช้าง ด้วยต้นทุนต่างๆ ที่สูงกว่า เพื่อสร้างแบรนด์ให้ตำแหน่งของสินค้านั้นอยู่ตลาดที่สูงกว่าเบียร์ช้าง แต่ได้มีการสร้างแบรนด์ LEO ซึ่งอยู่ในเครือของสิงห์ขึ้นมาขายในราคาที่ถูกกว่า และใกล้เคียงกับเบียร์ช้างมากกว่า และได้ลดคุณภาพการผลิตลงมา แทนที่จะลดราคาเบียร์สิงห์

 

6.วิธีการจำหน่าย

 

สุดท้ายของการสร้างแบรนด์ คือวิธีการจำหน่ายเป็นอีกหนึ่งวิธีการสร้างแบรนด์ของบางแบรนด์ ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะเลือกวิธีการจำหน่ายมาใช้ แต่บางแบรนด์ก็เลือกที่จะหยิบมาใช้ และได้ภาพจำที่แตกต่าง ยกตัวอย่างเช่น การจำหน่ายชานมไข่มุกที่เสิร์ฟชาออกมาจากปากสิงโต นั่นคือวิธีการจำหน่ายที่แตกต่างจากชาไข่มุกทั่วไป และทำให้เกิดภาพจำ หรือแม้แต่การเปิดร้านสุกี้ ที่มีทั้งสุกี้แบบให้ลูกค้าเดินไปตักอาหารเอง หรือสุกี้แบบสายพาน รวมถึงสุกี้แบบแสกน QR Code เพื่อสั่งอาหาร เป็นต้น 

 

กล่าวโดยสรุปการสร้างแบรนด์ คือการสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ ให้กลุ่มเป้าหมายนึกถึงเมื่อต้องการบริโภค จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าค่อนข้างสำคัญกับการทำธุรกิจไม่น้อยเลย หากไม่มีการสร้างแบรนด์เกิดขึ้น แบรนด์ก็จะไม่โดดเด่น ไม่สามารถทำให้ลูกค้านึกถึงเมื่อต้องการบริโภคได้