7P หรือ 7PS (Marketing Mix) คืออะไร ?

   การเริ่มต้นธุรกิจใหม่นั้นในปัจจันไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะกลายเป็นความเสี่ยง หากไม่รู้จักการวางแผน เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่ดีพอ เพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบคู่แข่ง ตั้งแต่เริ่มต้น  จึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธิ์ทางการตลาดอย่าง 7P Marketing Mix ซึ่งในบทความนี้จะขอมาอธิบายเกี่ยวกับ 7P หรือ 7PS  คืออะไร ที่จะเป็นส่วนช่วยให้การวางกลยุทธ์เพื่อธุรกิจของคุณมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 

7P/7PS Marketing Mix ส่วนผสมทางการตลาดประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?

   1. Product  (ผลิตภัณฑ์/สินค้า/บริการ)

   Product คือผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการของธุรกิจ ที่ต้องการนำเสนอให้แก่ผู้บริโภค จะเหมือนกับแนวคิด 4P ทุกประการแต่สำหรับ 7P แล้วนั้น จะไม่ได้โฟกัสหรือหมายถึงแค่สินค้าและบริการเพียงเท่านั่น แต่จะรวมไปถึงลักษณะของสินค้าที่จะสามารถสื่อให้ลูกค้าเห็นถึงความเป็น Branding ของคุณ

   2. Price (ราคา/มูลค่า)

   Price หรือราคานั้น เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับสินค้า การตั้งราคานั้น ต้องถูกคำนวณมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนของสินค้า รวมไปถึงกำไรที่ต้องการ การตั้งราคาที่เหมาะสม จะทำให้สินค้านั้น ยังสามารถขายได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการ ยังคงมีกำไรในเกณฑ์ที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้าม การตั้งราคาที่ไม่เหมาะสม อาจจะนำไปสู่การขาดทุนได้ ดังนั้นแบรนด์ ควรใส่ใจกับกลยุทธ์ การตั้งราคาสินค้า รวมไปถึงควรเปรียบเทียบราคาสินค้า กับคู่แข่งอย่างสม่ำเสมอ

   ดังนั้นหากธุรกิจตั้งราคาสินค้าหรือบริการไว้สูงและคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ดีเยี่ยมจึงมีความเหมาะสมกับราคาที่ตั้งเอาไว้ลูกค้าก็จะเต็มใจจ่าย แต่ถ้าสินค้าหรือบริการไม่ค่อยมีคุณภาพแต่คุณกลับตั้งราคาให้สูงเพื่อหวังเอาแต่ผลกำไรอย่างเดียว ฝั่งลูกค้าเองก็อาจไม่เต็มใจในการจ่ายหรืออาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าและบริการจากฝั่งคู่แข่งของคุณแทนได้

   3. Promotion (การส่งเสริมทางการตลาดและการสื่อสาร)

   Promotion โปรโมชั่นนี้ไม่ได้หมายถึง การลด แลก แจก แถมสินค้า เพียงเท่านั้น แต่คือวิธีการที่ธุรกิจใช้สื่อสารกับลูกค้าหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของคุณ ยกตัวอย่างเช่น การทำ Social Media Marketing การทำโฆษณาทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์โดยปัจจัยในข้อนี้จะต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องของช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะสามารถเลือกวิธีการสื่อสารที่ตอบโจทย์ความต้องการและช่องทางการสื่อสารได้อย่างตรงจุด ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่บริษัทต้องวางกลยุทธ์ตามปัจจัยในเรื่องของ STP – Segmentation, Targeting & Positioning ของธุรกิจของคุณนั้นเอง

   4. Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)

   Place คือ ช่องทางหรือสถานที่ในการจัดจำหน่าย กระจายสินค้าและบริการของธุรกิจที่จะนำไปสู่มือของผู้บริโภค ลำดับแรกสุด ควรศึกษาข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด ว่าเป้าหมายของเราอยู่ตรงไหน และมีพฤติกรรมอย่างไร จากนั้นเลือกใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านหน้าร้านเท่านั้น แต่ยังสามารถจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดีย แอปพลิเคชัน หรือ Online Market Place ต่างๆ โดยปัจจัยนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของคุณมียอดขายและกำไรดังนั้นจึงเป็นส่วนที่โฟกัสไม่น้อยไปกว่าส่วนผสมในข้ออื่น ๆ เลย

   5.People (บุคลากร การจัดการคนหรือพนักงาน)

   People คือ บุคลากร หรือผู้ให้บริการนั่นเอง  เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีปฏิสัมพันธ์ กับผู้บริโภคโดยตรง หากสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ ลูกค้าจะเกิดความประทับใจในแบรนด์ นำไปสู่การซื้อซ้ำและบอกต่อ  แต่ในทางตรงกันข้าม หากบริการลูกค้าได้แย่ อาจจะนำไปสู่การเสียฐานลูกค้าได้ ดังนั้นผู้ประกอบการ ควรใส่ใจเรื่องบุคลากรให้มาก ทั้งการเพิ่มพูนความรู้ การพัฒนาศักยภาพ และการปลูกฝังให้รักการบริการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานให้กับบุคลากรของธุรกิจคุณ ยกตัวอย่างเช่น

  1. การพัฒนาบุคคล 
  2. การบริการ
  3. การรับมือลูกค้า
  4. การโต้ตอบกับลูกค้าและบทสนทนาต่าง

 

   6. Process (กระบวนการ)

   Process คือวิธีการหรือกระบวนการที่ธุรกิจเลือกใช้ในการทำงานเพื่อเข้าถึงและประยุกต์ใช้ทางการตลาดให้กับธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า การโปรโมทแบรนด์ หรือแม้แต่การเข้าถึงลูกค้าโดยการใช้ Customer Service ใด ๆ ก็ตาม  การสร้างกระบวนการภายในที่ดีนั้น นอกจากจะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าแล้ว ยังทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจช่วยลดต้นทุนค่าบริหารจัดการลงอีกด้วย

   7. Physical Evidence (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

   Physical Evidence คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ณ การให้บริการแก่ผู้บริโภค หรือก็คือสิ่งที่สร้างประสบการณ์ในการรับบริการที่สามารถจับต้องได้ที่ผู้บริโภคจะได้รับ ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส และ ความรู้สึกทางร่างกาย เช่น การตกแต่งร้าน ความสะอาด บรรยากาศภายในร้าน เสียงดนตรี กลิ่นหอมของดอกไม้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าได้ทั้งสิ้น

ทำไมธุรกิจควรทำความรู้จักกับ 7P หรือ 7PS (Marketing Mix)

  • 7P สามารถช่วยให้ธุรกิจรู้จักและเข้าใจสินค้าและบริการของตัวเองมากกว่าแนวคิด 4Ps
  • 7P สามารถช่วยให้ธุรกิจสร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
  • 7P สามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างยอดขายและกำไรจากการขายสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • 7P สามารถช่วยให้ธุรกิจรู้จักความต้องการของกลุ่มลูกค้าของตัวเองมากขึ้น
  • 7P สามารถช่วยให้ธุรกิจได้วางแผนกลยุทธ์การตลาดได้ดีขึ้น
  • 7P สามารถช่วยให้ธุรกิจได้ตัดสินใจการทำงานในแต่ละแคมเปญได้ดี

 

   กลยุทธ์ 7P หรือ 7PS (Marketing Mix) นั้นไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จตายตัวแต่อย่างใด องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเพียงหลักการพื้นฐานเท่านั้น ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ แต่คือการเข้าใจในองค์ประกอบส่วนสำคัญของการตลาดที่นักการตลาดและผู้ประกอบการควรจะรู้จัก โฟกัสไปกับปัจจัยต่างๆ และสามารถอธิบายได้ว่าปัจจัยทางการตลาดในธุรกิจของคุณในแต่ละ P คือ มีจุดแข็งอะไร ได้เปรียบคู่แข่งในส่วนไหน และนำมาปรับใช้กับการพัฒนาสินค้าและบริการของธุรกิจของตัวเองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด