การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทำให้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่เรื่องการทำธุรกิจ การซื้อ-ขายสินค้าต่าง ๆ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ก็เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ด้วยกันทั้งสิ้น คำว่า “E-Commerce” จึงเกิดขึ้นพร้อมกับข้อสงสัยของคนอีกจำนวนไม่น้อยว่าสรุปแล้ว E-Commerce คืออะไร มีรูปแบบไหนบ้าง รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ มาศึกษารายละเอียดทั้งหมดกันได้ตอนนี้เลย

E-Commerce คืออะไร

E-Commerce คือ รูปแบบการทำธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภาษาไทยสามารถใช้คำว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตและช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการซื้อ-ขายสำเร็จผล ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันผ่านช่องทางดังกล่าว เกิดกระบวนการซื้อ-ขายตามขั้นตอนปกติ ผ่านระบบตะกร้าสินค้า ด้วยเหตุนี้ผู้ขายในฐานะของคนทำธุรกิจก็จำเป็นต้องมีช่องทางเป็นของตนเองเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้า / บริการต่าง ๆ ได้ตามต้องการ

ประเภทของธุรกิจ E-Commerce

ในภาพรวมของการซื้อ-ขายออนไลน์ หลายคนอาจเข้าใจว่าเกี่ยวข้องเฉพาะระหว่างธุรกิจกับบุคคล แต่ในความเป็นจริงยังสามารถแบ่งประเภทของธุรกิจ E-Commerce ได้อีกเยอะพอสมควร ซึ่งปัจจุบันจะมีด้วยกัน 8 ประเภท ดังนี้

  • B2C – ธุรกิจขายสินค้า / บริการให้กับลูกค้าบุคคลโดยตรง (ผู้บริโภค) สามารถพบเจอได้ทั่วไป หลายครั้งมักถูกเรียกว่าการขายให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย
  • B2B – ธุรกิจขายสินค้า / บริการให้กับธุรกิจด้วยกัน อาจเป็นในรูปแบบของการค้าส่ง การผลิต การให้บริการ จากนั้นธุรกิจที่ซื้อก็นำเอาสิ่งดังกล่าวไปเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตหรือขายยังผู้บริโภคต่อไป
  • C2B – บุคคลขายสินค้า / บริการให้กับธุรกิจ การที่บุคคลทั่วไป ไม่ได้มีการจดทะเบียนนามธุรกิจนำสินค้ามาขายต่อให้กับธุรกิจ เช่น เกษตรกรขายพืชพันธุ์ทางการเกษตรให้ธุรกิจผ่านออนไลน์ การสั่งอาหารจากร้านทั่วไปผ่านออนไลน์เพื่อเลี้ยงพนักงาน เป็นต้น
  • C2C – บุคคลขายสินค้าสินค้า / บริการให้กับบุคคลด้วยกัน มีทั้งรูปแบบการสร้าง Online Marketplace คือ พื้นที่ ๆ ให้ทั้งคนซื้อและคนขายมาเจอกันได้ หรือผู้ขายสร้างเว็บของตนเองแต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนในนามบริษัท
  • B2G – ธุรกิจขายสินค้า / บริการให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น E-Bidding แล้วธุรกิจเป็นผู้ชนะ
  • C2G – บุคคลขายสินค้า / บริการให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น E-Bidding แล้วบุคคลธรรมดาเป็นผู้ชนะ
  • G2B – รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐขายสินค้า / บริการให้กับธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การประกาศประมูลสินค้าออนไลน์
  • G2C – รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐขายสินค้า / บริการให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์

ข้อดีของการทำธุรกิจแบบ E-Commerce

  • สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนกลุ่มใด หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งเท่านั้น
  • หน้าร้านออนไลน์สามารถเปิดขายได้ตลอด 24 ชม. ยิ่งถ้าคุณมีการนำระบบตะกร้าสินค้า Shopping Cart และ Payment Gateway เข้ามาใช้งาน เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้มากขึ้นกว่าเดิม
  • แนวโน้มของธุรกิจ E-Commerce ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ธุรกิจจึงสามารถแตกไลน์สินค้า / บริการของตนเองออกไปได้เรื่อย ๆ
  • ค่าใช้จ่ายและต้นทุนของธุรกิจประหยัดลงเยอะมาก ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ
  • สร้างการรับรู้เพื่อขยายแบรนด์ให้เติบโตขึ้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์เพื่อกระตุ้นยอดขายในอนาคตได้
  • สามารถแข่งกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้จริง ไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะ แค่เพิ่มไอเดียสร้างสรรค์และใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดออนไลน์เข้ามาช่วย
  • นำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมไปพัฒนา วางแผนทางการตลาดในอนาคต

ข้อควรระวังในการทำธุรกิจแบบ E-Commerce

  • ด้วย E-Commerce เป็นการทำงานผ่านระบบออนไลน์ โอกาสที่จะโดนขโมยข้อมูล หรือแฮกเพื่อเข้ามาสร้างความเสียหายต่อธุรกิจมีสูง เช่น การขโมยข้อมูลส่วนตัวลูกค้า ข้อมูลทางธุรกิจ ฯลฯ ต้องมีการสร้างระบบป้องกันให้แข็งแกร่งและอัปเดตอยู่ตลอด
  • พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ธุรกิจจึงจำเป็นต้องอัปเดตเทรนด์ให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ
  • ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถดัดแปลง แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนเพื่อเลียนแบบ ทำซ้ำได้ จึงอาจพบเจอกับข้อผิดพลาด หรือการหลอกลวง
  • ปัญหาด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบที่อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เช่น โดเมนล่ม การเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร เป็นต้น
  • การสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายบางครั้งยังอาจมีข้อจำกัด เช่น ต้องติดต่อผ่านช่องทางอื่น ๆ หรือต้องรอการตอบกลับจากผู้ขายซึ่งเสียเวลา
  • ระบบการขนส่งสินค้าอาจเกิดปัญหาทำให้สินค้าไม่ถึงมือลูกค้าทันตามที่กำหนด และสร้างความเสียหายให้กับผู้รับได้เช่นกัน

ช่องทางยอดนิยมในการทำธุรกิจ E-Commerce

1. เว็บไซต์ส่วนตัว

นี่คือช่องทางที่มีจุดเด่นในหลาย ๆ ด้าน เช่น สามารถเพิ่มสินค้า / บริการทั้งหมดของธุรกิจลงไปได้แบบครบถ้วน มีความน่าเชื่อถือ และยังสามารถนำข้อมูลหลังบ้านต่าง ๆ เช่น จำนวนนาทีที่เข้ามายังหน้าเว็บไซต์ของแต่ละคน สถิติจากการทำ SEO ฯลฯ มาใช้วิเคราะห์เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดต่อไป แต่มีค่าใช้จ่ายสูง

2. Social Media

ช่องทาง E-Commerce ที่ได้รับความนิยมมากสุด เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย มีลูกเล่นสร้างคอนเทนต์เยอะ แต่ยังอาจขาดความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง รวมถึงปัจจุบันมีมิจฉาชีพพยายามหลอกลวงผู้บริโภคด้วยช่องทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

3. E-Marketplace

หรือเว็บคนกลางที่เปิดให้ผู้ขายนำผลิตภัณฑ์ไปลง จากนั้นจะทำการตลาดเองทั้งหมดเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า / บริการ ดังกล่าว สะดวก ไม่ยุ่งยาก แต่ก็แลกมาด้วยคู่แข่งขันที่เยอะมากนั่นเอง

สรุป

E-Commerce เป็นช่องทางการทำธุรกิจยุคใหม่ผ่านโลกออนไลน์ที่มีจุดเด่นด้านความสะดวก เข้าถึงลูกค้าง่าย วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้รวดเร็ว แต่อาจต้องแลกมาด้วยความปลอดภัยซึ่งตรงนี้ธุรกิจจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ดี รับรองว่าโอกาสเติบโตไม่ใช่เรื่องเกินจริงอย่างแน่นอน