เมื่อการทำเว็บไซต์กลายเป็นอีกหัวใจหลักของธุรกิจยุคปัจจุบัน เปรียบได้กับหน้าร้านออนไลน์ที่ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สร้างโอกาสทางการขายตลอด 24 ชั่วโมง เท่านั้น แต่บ่งบอกถึงภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และกระตุ้นแรงดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมาย หรือแม้แต่คนทั่วไปที่พบเห็นอยากคลิกเข้ามาบนหน้าเว็บแล้วรับชมหน้าอื่นต่อเรื่อย ๆ “CMS” จึงเข้ามามีบทบาทในเรื่องดังกล่าว ใครที่ต้องดูแลเว็บไซต์ อยากเพิ่มประสิทธิภาพให้เว็บดีขึ้นกว่าเดิม มาทำความรู้จักกันเลยว่า CMS คืออะไร

CMS คืออะไร

Content Management System หรือ CMS คือ เครื่องมือ (จะเรียกระบบก็ได้เช่นกัน) ทำหน้าที่จัดการเนื้อหาต่าง ๆ บนหน้าเว็บไซต์ ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ ดูแลเว็บไซต์ทั้งเรื่องของกำลังคน เวลา งบประมาณ หากอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็มีลักษณะเป็นโค้ดภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับสร้างสรรค์ ควบคุม พัฒนาเว็บไซต์ผ่านภาษาสคริปต์ (Script Language) หลายรูปแบบ เช่น PHP, Perl, ASP, Python และภาษาอื่น ๆ ตามความถนัดของผู้พัฒนาเพื่อให้การทำงานแบบอัตโนมัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มากไปกว่านั้นยังต้องอาศัยโปรแกรมเว็บเซิร์ฟเวอร์ เช่น Apache และดาต้าเบสเซิร์ฟเวอร์ เช่น MySQLi ทำงานควบคู่กันทั้งหมด

นั่นหมายความว่าระบบ CMS จะช่วยให้เว็บไซต์เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจมากกว่าเดิมแม้ผู้ใช้งานไม่ได้มีทักษะ หรือความรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ดโปรแกรม การสร้างเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ทั้งเรื่องการอัปเดตเนื้อหา การปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติม การปรับหน้าเว็บไซต์ดีไซน์ใหม่โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโค้ด มีระดับความปลอดภัยสูงจากระบบที่มักถูกอัปเดตอยู่ประจำภายใต้มาตรฐานการดูแลสูงสุด จึงไม่แปลกหากระบบดังกล่าวจะได้รับความไว้วางใจและถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างระบบ CMS ที่ได้รับความนิยม

หากเอ่ยในอีกมุม CMS ก็เปรียบได้กับเว็บไซต์สำเร็จรูป เพียงแค่เลือกโปรแกรมที่ตนเองอยากใช้งาน (หรือมีความถนัด) จากนั้นก็เริ่มศึกษาขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่โปรแกรมเหล่านั้นระบุ และลงมือทำเว็บของตนเอง ซึ่งตัวอย่างระบบ CMS ที่ได้รับความนิยมมากจากทั้งคนไทยและทั่วโลก ประกอบไปด้วย

1. WordPress

โปรแกรมสำเร็จรูป หรือ CMS ที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งในเมืองไทยและทั่วโลก โดดเด่นด้วยระบบเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน มีธีม ปลั๊กอินต่าง ๆ ให้เลือกเยอะมาก และยังอัปเดตให้ทันสมัยอยู่ตลอด

2. Joomla

ระบบต่อมาก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ช่วยให้การสร้างและปรับปรุงเว็บไซต์ให้เกิดผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจ ฟังก์ชันการควบคุมมีแยกสัดส่วนระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ดูแลระบบชัดเจน

3. Magento

ระบบ CMS ของสายเว็บกลุ่ม E-Commerce เจ้าของเดียวกับ Adobe ช่วยให้การจัดการสินค้าต่าง ๆ บนหน้าเว็บ และการชำระเงินที่สะดวกกว่า ตอบโจทย์องค์กรที่ขายสินค้าหลายประเภท

4. Wix

อีกระบบที่สะดวกต่อการใช้งาน แม้เป็นมือใหม่ก็ไม่ต้องกังวลใจอะไรมาก สามารถสร้างเว็บรูปแบบไดนามิกได้แม้ผู้ใช้อาจมีแค่พื้นฐานการสร้างเว็บเบื้องต้น หรือแม้แต่ไม่ได้มีทักษะชั้นสูงใด ๆ ก็ตาม

5. Drupal

นี่คือระบบที่โดดเด่นในเรื่องของการออกแบบโครงสร้างให้มีคุณภาพสูง ตัวเลือกการปรับแต่งเพื่อสร้างความสวยงามมีเยอะ รวมถึงการทำงานแบบ Modules กับ Themes ก็ช่วยเพิ่มลูกเล่นให้น่าสนใจมากขึ้น

6. Shopify

เหมาะกับคนที่ต้องการสร้างเว็บไซต์ประเภทอี-คอมเมิร์ซอีกเช่นกัน ตัวระบบใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เพิ่มการทำงานและลูกเล่นของเว็บให้เกิดความหลากหลาย ไม่ซ้ำซากหรือน่าเบื่อเมื่อใช้เป็นประจำ

7. Squarespace

ระบบ CMS ตัวสุดท้ายจะนิยมใช้กับเว็บไซต์ทั่วไปที่ไม่ได้มีข้อมูลสูงมากนัก เช่น การทำเว็บบล็อกส่วนตัว เว็บบริษัทขนาดเล็ก เว็บรับงานฟรีแลนซ์ทั่วไป จุดเด่นคือการออกแบบและปรับแต่งหน้าเว็บไซต์แบบเรียลไทม์

การประยุกต์ใช้งาน CMS ทำได้หลายรูปแบบ

จากตัวอย่างของโปรแกรม CMS ที่บอกไปจริงแล้วต้องยอมรับว่าสามารถสร้างสรรค์เว็บไซต์ได้หลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้สร้างเป็นหลัก ทั้งนี้หากลองแยกประเภทองค์กรเพื่อการประยุกต์ใช้ระบบนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพก็สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

  • กลุ่มองค์กรธุรกิจทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ธุรกิจขนาดใหญ่ระดับมหาชน หรือธุรกิจระหว่างประเทศเองก็ตาม
  • กลุ่มองค์กรด้านการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันติวเตอร์ สถาบันอบรมต่าง ๆ
  • กลุ่มองค์กรทางการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย ไฟแนนซ์
  • กลุ่มองค์กรการท่องเที่ยว เช่น บริษัททัวร์ สายการบิน รถทัวร์ สถานที่ท่องเที่ยว
  • กลุ่มองค์กรภาครัฐทุกประเภททั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ งานด้านการข่าว การประชาสัมพันธ์
  • กลุ่มองค์กรด้านสิ่งบันเทิง เช่น ผู้ผลิต – ผู้จัดจำหน่ายซีรี่ย์ ภาพยนตร์ เพลง หนังสือพิมพ์
  • กลุ่มองค์กรด้านการลงทุน เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น กองทุน โบรกเกอร์ทุกประเภท

ใช้ CMS อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

1. วัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ชัดเจน

ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์คุณต้องรู้ว่าวัตถุประสงค์หลักคืออะไรเพื่อช่วยให้การดีไซน์เว็บออกมาตรงกับสิ่งที่คาดหวังมากที่สุด เช่น ต้องการขายสินค้า สร้างบล็อกความรู้ สร้างเว็บไซต์ทั่วไป ฯลฯ

2. เลือกประเภทของ CMS ให้เหมาะสม

อย่างที่ยกตัวอย่าง CMS หลายประเภทจะเห็นว่าแต่ละตัวก็มีจุดเด่น ลูกเล่น และความพิเศษแตกต่างกันออกไป เมื่อรู้วัตถุประสงค์แล้วย่อมช่วยให้เลือกง่ายขึ้น ผลลัพธ์ออกมาน่าพึงพอใจ

3. ทดลองใช้งาน CMS จริง

อย่าลืมทดลองใช้งานเพื่อประเมินความพึงพอใจว่าเป็นไปตามสิ่งที่คาดหวังหรือไม่ มีจุดไหนต้องปรับแก้ไข หรือไม่ตรงกับคอนเซปต์ที่วางแผนตั้งแต่แรก

4.ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญ

ท้ายที่สุดต้องไม่ลืมเรื่องของระบบความปลอดภัย เช่น ถ้ามีข้อมูลความลับอยู่เยอะก็ต้องพยายามสร้างระบบที่โดนแฮ็คยาก เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าว

สรุป

CMS หรือ Content Management System เปรียบได้กับเว็บสำเร็จรูป หรือโปรแกรม ระบบซอฟต์แวร์ที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการเว็บไซต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน้ความสะดวก รวดเร็ว มีตัวเลือกสำหรับใช้งานเยอะมาก เช่น WordPress, Wix, Magento, Joomla เป็นต้น ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจหรือองค์กรประเภทใดก็ไม่ใช่ปัญหา แต่อย่าลืมมีการวางแผนเป็นขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย