เมื่อเทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด หนึ่งในผู้นำแห่งวงการอย่าง Google จึงต้องพยายามเดินหน้าให้เร็วและสร้างสรรค์ตัวช่วยกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการและเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “Google Bard” ถูกพัฒนาและเริ่มใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งหลายคนที่ยังมีข้อสงสัยว่า Google Bard คืออะไร มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน รวมถึงทุกเรื่องที่สงสัยตามมาหาคำตอบกันได้เลย

Google Bard คืออะไร

Google Bard หรือที่หลายคนมักเรียกกันง่าย ๆ ว่า Bard คือ AI อัจฉริยะที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Google ในกลุ่ม Chatbot สำหรับตอบคำถาม อธิบายข้อสงสัย หรือพูดคุยกับบุคคลที่กำลังหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี LaMDA หรือ Language Model for Dialogue Applications ซึ่งมีมากกว่า 137,000 ล้านพารามิเตอร์ ผู้ใช้สามารถสอบถามผ่านการพิมพ์แชทหรือใช้เสียงสนทนาก็ตามสะดวก เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

จุดประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหารายละเอียด คำตอบ หรือข้อมูลทั้งหมดด้วยความรวดเร็ว เข้าถึงง่ายกว่าการเสิร์ชทั่วไป เหตุเพราะมีการใช้โมเดลอัจฉริยะอย่าง Large Language Models (LLM) ชื่อว่า PaLM2 จึงเข้าใจคำถามต่าง ๆ และคำสั่งในภาษามนุษย์แล้วค้นหาคำตอบให้อย่างทันท่วงที

ปัจจุบัน Google Bard ได้ขยายความเข้าใจด้านภาษาเพื่อรองรับการใช้งานผู้คนทั่วโลกรวมถึงภาษาไทย (เท่ากับคนไทยสามารถพูดคุย พิมพ์ถาม-ตอบโดยใช้ภาษาไทยได้เลย) รวมถึงมีการประกาศในอนาคตอันใกล้จะครอบคลุมภาษายอดนิยมอีกกว่า 40 ภาษา และอีกกว่า 180 ภาษาทั่วโลก แม้ช่วงแรกจะได้รับคำวิจารณ์จากผู้ใช้จริงเกี่ยวกับการให้ข้อมูลผิดพลาด แต่ทาง Google ก็ได้อัปเดตครั้งใหญ่จนมีประสิทธิภาพน่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง

ประโยชน์อันเหลือล้นของ Google Bard

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Google Bard ถูกมองในฐานะ AI ที่ก็อปปี้ Chat GPT แต่ในความเป็นจริงประโยชน์ของ AI ตัวใหม่จาก Google ก็มีความแตกต่างและน่าสนใจในหลายมิติมาก โดยขอสรุปดังนี้

  1. คำตอบอัปเดตใหม่ล่าสุดอยู่เสมอ

ด้วย Google จัดเป็นเว็บค้นหา (Search Engine) ยักษ์ใหญ่ของโลก ข้อมูลที่ถูกเพิ่มเข้ามาในแต่ละวันจึงมหาศาลเกินคาดเดาได้ ดังนั้นทุกครั้งเมื่อคุณพูดคุยกับ Google Bard สิ่งที่จะได้รับกลับมาย่อมหนีไม่พ้นคำตอบสดใหม่เรียลไทม์ อัปเดตให้ล่าสุด เหตุเพราะโมเดล LaMDA จะทำหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดก่อนดึงเนื้อหาที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วมานำเสนอ รวมถึงสำนวนของการเขียนคำตอบก็มีความเป็น Bot น้อยลง อีกไฮไลท์พิเศษของการตอบคำถามคือสามารถตอบด้วยรูปภาพ หรือตอบทั้งข้อความและรูปภาพพร้อมกันหากผู้ใช้ต้องการ

  1. ทำงานร่วมกับแอป / โปรแกรมอื่น ๆ ของ Google ได้ดี

ในฐานะของการเป็นแบรนด์เดียวกันทั้งหมด การทำงานของ Google Bard กับแอปหรือโปรแกรมอื่นที่ถูกแลโดย Google ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งการแชร์เนื้อหาสู่ Google Docs การส่งเนื้อหาเข้า Gmail ไปสู่การเข้าถึง Google Search, Google Map, Google Drive, Google Sheets, Google Slides, Google Meet, YouTube, Google Flights เป็นต้น นั่นเท่ากับการใช้งานเบ็ดเสร็จ สะดวก รวดเร็ว ทุกอย่างเชื่อมโยงกันง่ายดายโดยไม่ต้องเสียเวลาเปิดเช็กหรือส่งข้อมูลด้วยตนเอง

  1. มีการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อื่น ๆ

นอกจากการใช้งานกับแอป / โปรแกรมของ Google เองแล้ว Google Bard ยังมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์อื่นเพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการใช้มากขึ้น อย่างพาร์ทเนอร์เจ้าแรกคือ Adobe Firefly โดยจะนำ Bard เข้าไปอยู่ในแอป จึงสามารถสร้างภาพกราฟิกโดยใช้วิธีบรรยายเพื่อให้ AI ทำออกมาเป็นผลงานภาพสวย ๆ และนำไปใช้ได้หลายรูปแบบ

วิธีใช้งาน Google Bard ไม่ยากเลย

เมื่อเข้าใจถึงความหมายและประโยชน์กันไปแล้ว สำหรับคนที่สงสัยว่า Google Bard ใช้ยังไง ขอยืนยันเกี่ยวกับวิธีใช้ AI อัจฉริยะตัวนี้ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ทำตามขั้นตอนต่าง ๆ กันเลย

  1. คลิก https://bard.google.com/
  2. กรณีไม่มีบัญชี Google (บัญชี Gmail) ก็สมัครให้เรียบร้อย
  3. กด “ลองใช้ Bard”
  4. หน้าต่างจะเปลี่ยนไปสู่ข้อกำหนดและความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นการอธิบายเกี่ยวกับการใช้งาน สามารถกดยอมรับได้เลย
  5. หน้าเว็บจะเปิดไปยังหน้าต่างของ Google Bard ก็สามารถเริ่มต้นเขียน Prompt ได้เลย (Prompt คือ การเขียนอธิบายเพื่อบ่งบอก AI ให้รู้ว่าคุณต้องการคำตอบหรือสื่อสารเรื่องไหน)

การใช้งาน Google Bard กับงาน SEO

เพื่อให้ทุกคนเห็นประโยชน์ของ Google Bard อย่างชัดเจน จึงอยากนำเสนอตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้ร่วมกับการทำ SEO อันถือเป็นหัวใจหลักของการตลาดออนไลน์ยุคใหม่

เช่น คุณจะหาเว็บเพื่อใส่ Backlink แต่ไม่แน่ใจว่าเว็บไหนมีประสิทธิภาพ มีคะแนนดีต่อเว็บตนเองก็สามารถค้นหาข้อมูลเพื่อให้ Google Bard ตอบเว็บที่น่าสนใจมาได้เลย

ส่วนนักเขียนที่ต้องการเขียนบทความ SEO ก็ใช้งานได้ เช่น ให้ช่วยคิดหัวข้อเรื่องมาสัก 5-10 หัวข้อ จากนั้นเลือกหัวข้อที่น่าสนใจ พร้อมดึงดูดผู้อ่าน คอนเทนต์ของคุณก็มีโอกาสได้รับการเปิดเข้าไปรับชม เพิ่มโอกาสทั้งด้านการรับรู้ การคลิกเข้าหา และต่อยอดสู่ผลกำไรตามเป้าหมายขององค์กรได้เช่นกัน

สรุป

Google Bard ถือเป็นฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดของ Google ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี สร้างประโยชน์มหาศาลต่อผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ไหนก็ตาม พักผ่อน ท่องเที่ยว การทำงาน ฯลฯ แม้ล่าสุดในปี 2023 ตัวฟีเจอร์ยังไม่ได้ประกาศใช้งานอย่างเป็นทางการเต็มตัว แต่อนาคตอันใกล้หลายคนคาดหวังถึงผลลัพธ์อันทรงประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ทุกมิติขนานแท้