การก้าวเข้าสู่ยุคออนไลน์แบบเต็มตัวทำให้เว็บไซต์กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องมี หากเปรียบแบบเข้าใจง่ายก็ไม่ต่างจากหน้าร้านออนไลน์ และยังมีข้อดีในหลายด้านทั้งเรื่องการเปิดขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประหยัดต้นทุนมากกว่า สร้างความน่าเชื่อถือได้ ฯลฯ อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะเป็นองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลทั่วไปที่อยากมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง หนึ่งในสิ่งที่ต้องทำความรู้จักนั่นคือ “Hosting” ซึ่งใครกำลังสงสัยว่า Hosting คืออะไร สำคัญมากแค่ไหน มาหาคำตอบกันได้เลย!

Hosting คืออะไร

Hosting (โฮสติ้ง) คือ บริการเครื่องเซิฟเวอร์บนโลกออนไลน์เพื่อเป็นพื้นที่ให้กับผู้ที่ต้องการนำเสนอสินค้า / บริการ หรือข้อมูลต่าง ๆ สามารถเผยแพร่ไปสู่บุคคลอื่นได้บนอินเทอร์เน็ตผ่านหน้าเว็บไซต์ของตนเอง หลักการคือเมื่อคุณมีชื่อโดเมน (Domain Name) ตั้งค่า DNS Server ผูกไว้กับผู้ให้บริการเซิฟเวอร์ (HSP: Hosting Service Provider) เพียงเท่านี้ทุกข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ทั้ง Homepage, Landing Page, Sale Page, Blog ฯลฯ ก็สามารถปรากฏสู่สายตาของทุกคนที่พิมพ์ชื่อโดเมนหรือกดค้นหาแล้วเจอเว็บไซต์ของคุณ

ด้วยเหตุนี้ปัจจัยสำคัญลำดับแรกจำเป็นต้องสร้างเว็บไซต์ของตนเองขึ้นมา จากนั้นจึงนำไปจดทะเบียนโดเมนเพื่อไม่ให้คนอื่นสามารถใช้ชื่อซ้ำได้ เมื่อดำเนินการเรียบร้อยก็นำเว็บไซต์ของตนเองไปอัปโหลดเข้าสู่ระบบ Hosting หรือระบบการฝากพื้นที่ออนไลน์นั่นเอง

ทางด้านของ Hosting จะเข้าสู่กระบวนการติดตั้งซอฟต์แวร์ โปรแกรมต่าง ๆ ที่สามารถจัดการเว็บไซต์ของคุณให้สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์แบบ เช่น Web Server, FTP, Database, DNS, E-mail, Subdomain ฯลฯ เท่านี้หน้าเว็บไซต์ก็พร้อมออกสู่สายตาทุกคู่แล้ว ทั้งนี้ค่าบริการโฮสติ้งส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นรายปี

เลือกบริการ Hosting ต้องพิจารณาเรื่องใดบ้าง

1. ระบบเซิร์ฟเวอร์

นี่คือหัวใจสำคัญมากของบริการ Hosting เลยก็ว่าได้ หากระบบเซิร์ฟเวอร์ไม่ดีนั่นหมายถึงเว็บของคุณก็อาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ง่ายมาก เช่น เว็บล่มบ่อย ไม่ลื่นไหล เว็บค้าง ไม่เสถียร ดาวน์โหลดนาน และอีกมากมาย ท้ายที่สุดเมื่อมีคนกดคลิกเข้าไปย่อมได้รับประสบการณ์เชิงลบและไม่อยากเข้ามาดูอีก หลักเบื้องต้นของเซิร์ฟเวอร์ที่ดีจึงต้องลื่นไหล ไม่มีสะดุด Uptime มากกว่า 99% หรือถ้าแตะระดับ 99.5% จะยิ่งดีมาก ไม่ใช่การนำ PC มาหลอกลวง หน่วยประมวลผลรวดเร็ว เป็นต้น

2. บริการที่ยอดเยี่ยมทุกช่วงเวลา

การพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ให้มีประสิทธิภาพหลายเจ้าผู้ให้บริการเองต่างพยายามหนัก ในฐานะของลูกค้าลำดับต่อไปจึงควรประเมินไปที่บริการและประสบการณ์ที่คุณได้รับ เบื้องต้นเลยต้องมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญบริการแบบเฉพาะทาง อธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด มีทีมงานคอยดูแล ปรับปรุง อัปเดต หรือแก้ไขข้อผิดพลาดอยู่ตลอด สิ่งสำคัญต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ฉับไว เพราะโลกออนไลน์ยุคนี้ใครช้าก็เท่ากับเสียโอกาส ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจด้วยแล้วอาจมีมูลค่ามากกว่าที่คิดไว้หลายเท่า

3. ตำแหน่งของเซิร์ฟเวอร์

ตำแหน่งหรือ Location ของเซิร์ฟเวอร์ควรอยู่บริเวณ Data Center สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลกได้แบบ 24 ชั่วโมง ภายใต้ระดับความเร็วสูงสุด และทีมงานมืออาชีพต้องคอยควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดด้านความปลอดภัยเป็นอันขาด

4. ความปลอดภัยสูงสุด

ข้อนี้คืออีกเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้หากจะเลือกใช้บริการ Hosting ที่ใดก็ตาม เพราะข้อมูลต่าง ๆ ของธุรกิจควรต้องได้รับการปกป้อง ระวังภัย รักษาความปลอดภัยได้ดีแบบ 100% ป้องกันความเสี่ยงและอันตรายจากปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น Spyware, Spam, Viruses, DDoS Attacks หรือ Phishers เป็นต้น จะช่วยให้เกิดความสบายใจ เช่น การตั้งค่ารหัสผ่านทุกอย่างแบบรัดกุม

รูปแบบบริการของ Hosting

1. Shared Hosting

เป็นบริการที่จะแบ่งพื้นที่ Hardware Network หรือแบ่งพื้นที่ในการเช่าบนเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้ผู้เช่าทุกคนใช้งานร่วมกัน โปรแกรมแบบเดียวกันทั้งหมด บริการนี้จะเหมาะสำหรับคนทำเว็บทั่วไป ไม่ได้มีข้อมูลใด ๆ เยอะมากนัก สามารถ SSH หรือ FTP ดูไฟล์เฉพาะของเว็บตัวเองเท่านั้น ข้อเสียทางเทคนิคคือ หากโดนโจมตี โดนยิง โดนไวรัส หรือถูกแบน IP จาก Google ทุกเว็บจะโดนพร้อมกันหมด ราคาถูก ปีละ 500-1,000 บาท

2. VPS Hosting

บริการนี้จะคล้ายกับผู้เช่ามีเซิร์ฟเวอร์เป็นของตนเอง ผู้ดูแลสามารถบริหารจัดการซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ได้ตามชอบผ่านระบบ Remote Desktop Connection ซึ่งจะมีโปรแกรมเฉพาะเอาไว้ให้ (CPanel) เป็นประเภทโฮสติ้งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อยู่ราวๆปีละ 1,000-1,500 บาท

3. Dedicated Server

เซิร์ฟเวอร์ประเภทนี้จะเป็นของผู้เช่า หรือผู้ใช้บริการแค่เพียงเจ้าเดียว สามารถใช้งานทรัพยากรต่าง ๆ ได้แบบเต็มพิกัด มีระบบบริหารจัดการโดยตรงหรือฝ่ายที่ดูแลในองค์กรของตนเอง มีระดับความปลอดภัยสูงมาก มักนิยมใช้กับเว็บที่มีข้อมูลเยอะ หรือกลุ่มเว็บแนวอี-คอมเมิร์ซ ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูง ราคาเริ่มต้นเฉลี่ย 20,000/ปี

4. Cloud Hosting

บริการนี้จะคล้ายกับ VPS แต่มีความต่างเรื่อง Infastructure การเพิ่มลดสเป็คของเครื่อง เช่น CPU,RAM,Disk สามารถทำได้เพียงกดคลิกบนหน้าเว็บไซต์ อาจจะมีช่วงเวลา Downtime เล็กน้อย แถมปัจจุบันปี 2024 ราคาถูก และเป็นเทคโนโลยีที่จะนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการเช่าเซิฟเวอร์แบบเก่าก็จะเริ่มน้อยลง ยังมีผู้ให้บริการเช่าเซิฟเวอร์ประเภทย่อยเรื่องเพิกเฉยต่อลิขสิทธิ์ เช่น DMCA Ignored Hosting ราคาขึ้นกับสเป็คที่เลือก ประมาณ 3,000-10,000 บาทต่อปี

5. Reseller Hosting

จะเป็นลักษณะของผู้ให้บริการเช่าโฮสติ้ง ที่เลิกใช้งานไปแล้ว เครื่องว่างแต่ไม่ใช่เครื่องใหม่ ในกรณีที่ธุรกิจมีหลายเว็บไซต์ต้องดูแลก็จะเลือกรูปแบบนี้ไปใช้งานได้เช่นกัน เหมือนซื้อเซิฟเวอร์มือสอง ราคาจะถูกลง

Web Hosting ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ในเครื่องโฮสติ้ง หรือเครื่องเซิฟเวอร์ จะประกอบด้วย ซอฟต์แวร์ (Software) ของระบบเช่น ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux Operating System) ไฟล์โค้ดของเว็บแอปพลิเคชัน ฐานข้อมูล (Database) อีเมลเซิฟเวอร์ ระบบการกู้คืนสำรองข้อมูล (Backup) และอื่นๆ

Cloud Hosting vs. VPS Hosting: Trends

เรามาดูแนวโน้มความสนใจการค้นหาบนกูเกิลที่ Google Trend รายงานเปรียบเทียบกัน ยุคต่อไปจะเป็น Cloud Hosting นิยมกว่าอย่างแน่นอนครับ

ใครอยากทำเว็บไซต์ต้องให้ความสำคัญกับ Hosting

ยืนยันอีกครั้งว่าหากคุณวางแผนอยากทำเว็บไซต์เป็นของตนเองทั้งรูปแบบบริษัท หน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่อยากนำเสนอข้อมูลตามความชอบเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้อื่นได้รับรู้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญนอกจากการออกแบบดีไซน์เว็บ การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ แล้วนั่นคือเรื่องของ Hosting เพราะถ้าคุณเจอบริการที่ดี มีประสิทธิภาพเว็บก็มีสิทธิ์เติบโตตามแผนที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ตรงข้ามต่อให้เนื้อหาดี ภาพสวย วิดีโอน่าสนใจ แต่ถ้าระบบเว็บไม่ได้มาตรฐาน ทุกอย่างก็มีสิทธิ์ไม่ได้ตามที่คาดหวังเช่นกัน

สรุป

Hosting เป็นอีกสิ่งสำคัญของการทำเว็บไซต์ที่ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาเอาไว้ แม้ไม่ได้ถึงขนาดต้องลงลึกเพื่อดำเนินการด้วยตนเอง แต่ถ้าคุณเลือกรูปแบบบริการได้อย่างถูกต้อง เลือกผู้ให้บริการที่ดี มีมาตรฐาน ระบบลื่นไหล ไม่มีสะดุด ค้าง มาพร้อมความเสถียรก็ย่อมเสริมภาพลักษณ์และต่อยอดธุรกิจได้ต่อเนื่องแน่นอน