ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นไปไหน รวมถึงการท่องโลกออนไลน์ก็ตาม สิ่งที่เรียกว่า “QR Code” มักถูกพบเห็นจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหลายคนคงเกิดข้อสงสัยตามมาเกี่ยวกับกรอบสี่เหลี่ยมที่มีรอยแถบดำ ๆ ลวดลายประหลาดว่า QR Code คืออะไร ทำไมการใช้ชีวิตยุคใหม่สัญลักษณ์ดังกล่าวกลายเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำธุรกิจ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตทั่วไปก็ต้องใช้งาน มาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมกันได้เลย

QR Code คืออะไร

Quick Response หรือ QR Code คือ สัญลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมแล้วภายในจะมีแถบสีทึบรูปแบบไม่ตายตัวกระจายกันอยู่ซึ่งแถบดังกล่าวมีการบันทึกข้อมูล รายละเอียด และสามารถตอบสนองได้ภายในเวลาอันรวดเร็วเพียงแค่ใช้มือถือสแกน ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการพัฒนาเพื่อใช้งานจะแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ ได้แก่

  • QR Code ที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการผ่านระบบออนไลน์
  • การติดตั้งโปรแกรม QR Code เอาไว้บนอุปกรณ์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ

สำหรับจุดเริ่มต้นของการกำเนิด QR Code ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1994 บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Denso-Wave ได้เป็นผู้คิดค้นขึ้น กระทั่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงกว้างเมื่ออินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูแบบขี้สุดเหมือนที่พบเห็นในปัจจุบันนั่นเอง

ประเภทของ QR Code ที่นิยมใช้งาน

1. QR Code Model 1 และ Model 2

ถือเป็นคิวอาร์โค้ดรูปแบบดั้งเดิม มีขนาดใหญ่สุดหากเทียบกับประเภทอื่น ขนาด 73 x 73 Module ใส่ข้อมูลได้รวม 1,167 ตัว ขณะที่ Model 2 เป็นรุ่นพัฒนาซึ่งบรรจุข้อมูลรวมถึง 7,089 และปัจจุบันยังคงได้รับความนิยมมาก

2. Micro QR Code

มีขนาดเล็กมากเพียง 17 x 17 Module บรรจุตัวอักษรได้ 35 ตัว ถือว่าขนาดเล็กกว่าแบบแรกพอควร นิยมใช้สำหรับการให้ข้อมูลเพียงเล็กน้อยหรือกำหนดข้อมูลแค่เรื่องเดียวเท่านั้น

3. IQR Code

นอกจากมีขนาดเล็กแล้วยังถูกพิมพ์ตามแนวนอนเพื่อให้เก็บข้อมูลได้เยอะถึง 80% หรือถ้าเก็บข้อมูลปริมาณเท่ากันยังประหยัดพื้นที่แสดงผลอีกราว 30% บรรจุข้อมูลสูงสุด 40,000 ตัว

4. SQRC

จะคล้ายกับตัว QR Code Model 1 และ Model 2 มาก แต่จุดเด่นที่ทำให้น่าสนใจขึ้นนั่นคือ สามารถเก็บข้อมูลที่เป็นความลับได้

5. Frame QR

เป็นอีกแบบที่พบเห็นได้บ่อย ลักษณะคือสามารถใช้ภาพกราฟิก โลโก้ รูปภาพ สัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้ามาใส่ภายใน QR Code ได้ จึงมักพบบ่อยเมื่อต้องทำกิจกรรมทางการตลาด หรือทำการตลาดออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาเจอกันง่ายขึ้น

แนวทางในการนำ QR Code ไปใช้งาน

อย่างที่ทุกคนเห็นว่าปัจจุบันคิวอาร์โค้ดกลายเป็นอีกทางเลือกของธุรกิจและคนทั่วไปเมื่อต้องการส่งข้อมูล หรือรับข้อมูลใด ๆ ก็ตาม ประหยัดเวลา สะดวก รวดเร็ว ได้รายละเอียดครบถ้วน ซึ่งแนวทางที่มักนำ QR Code ไปใช้งานก็มีอยู่พอสมควร ประกอบไปด้วย

1. รับชำระเงิน

นี่คือรูปแบบที่ทุกคนพบเห็นได้บ่อยสุดในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เมื่อการชำระเงินค่าสินค้า / บริการต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องจ่ายแค่เงินสดหรือบัตรเครดิตอีกต่อไป เพราะระบบ Mobile Banking ก็สร้างความสะดวก ง่ายดาย และปลอดภัยกว่า ไม่ต้องกลัวเงินหาย พกพามือถือเครื่องเดียวก็จ่ายได้ทุกสิ่ง แต่ลำพังจะให้พิมพ์ตัวเลขบัญชีธนาคารแต่ละครั้งคงเป็นเรื่องยุ่งยากมาก การมี QR Code รับชำระเงินจึงสะดวกต่อลูกค้า แค่สแกนมือถือก็เข้าสู่ระบบธนาคารแล้วกดจ่ายเงินได้ทันที

2. เพิ่มช่องทางการติดต่อเพื่อทำการตลาดออนไลน์

ลำดับต่อมาถูกใช้งานเพื่อสร้างช่องทางติดต่อระหว่าง 2 ฝ่าย เช่น ร้านค้าสร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ลูกค้าเพิ่มเพื่อนสำหรับอัปเดตข่าวสาร ติดตามข้อมูลต่าง ๆ หรือสอบถามรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจุดนี้เองยังถือเป็นช่องทางการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รวมถึงโอกาสสร้างยอดขายให้เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ยิ่งยุคนี้แนวทางทำการตลาดเปลี่ยนไปเยอะมาก พฤติกรรมคนใช้มือถือกันแทบทั้งวัน ธุรกิจก็สามารถใช้เทคนิคเพิ่มเพื่อนเพื่อกระตุ้นความรู้สึกและการตัดสินใจซื้อได้เช่นกัน

3. ลงทะเบียนข้อมูลต่าง ๆ

อีกแนวทางของการใช้คิวอาร์โค้ดที่พบเห็นบ่อยมากนั่นคือ การลงทะเบียนเพื่อกรอกข้อมูลต่าง ๆ เช่น การสมัครสมาชิก การสมัครเป็นตัวแทน การลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ บอกลาปัญหาความสับสน แถมยังสะดวก รวดเร็ว ง่ายดาย มีรายละเอียดและข้อมูลทุกอย่างชัดเจน ครบถ้วน นำไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการ

QR Code จำเป็นต่อการทำธุรกิจมากขนาดไหน

จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ระบุไปต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ QR Code เป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำเสนอทุกสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปได้อย่างครบถ้วน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนแพง ๆ แต่เข้าถึงแบบส่วนตัวยิ่งกว่า ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหนก็พบเห็นการสื่อสารต่าง ๆ ของทางธุรกิจได้ครบถ้วน หรือแม้แต่ธุรกิจหน้าร้านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ต้องมีการรับชำระเงิน คิวอาร์โค้ดย่อมช่วยลดภาระการจัดการงานได้หลายรูปแบบ เช่น คนไม่ต้องต่อคิวเพื่อรอเงินทอน ตรวจสอบเงินเข้า-ออกได้ครบถ้วน และยังเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในเรื่องความทันสมัย และมีส่วนลดการใช้วัสดุต่าง ๆ ไม่สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วย

Static qr code vs Dynamic qr code

Static qr code เป็นคิวอาร์โค้ดที่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ เหมาะสำหรับใช้ทำ Marketing Campaigns หรือ PR Event ใช้ซ้ำได้สแกนกี่ครั้งก็ได้ ส่วน Dynamic QR Code สามารถแก้ไขข้อมูลได้หลังบ้าน เพื่อกรณีปริ๊นไปใช้งานแล้ว แต่ต้องการแก้ไขปลายทาง ก็สามารถทำได้ และบางกรณียังใช้เก็บ Expire Date วันหมดอายุของ QR Code ยกตัวอย่าง QR Payment หรือใช้ในกรณี QR Login หรือจะกำหนดลิมิตการใข้งานเช่น QR Code ที่ใช้สแกนแจกรางวัลในงานอีเว้นท์ เป็นต้น

สรุป

QR Code กับการใช้งานในยุคปัจจุบันต้องบอกว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการชำระเงิน การติดต่อเพื่อสื่อสารระหว่างธุรกิจกับลูกค้า ใช้เพื่อโปรโมทกลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ เป็นต้น มีหลายรูปแบบให้เลือก เสริมภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นธุรกิจที่ยังลังเลใจอย่าคิดนานเพราะอาจโดนคู่แข่งแซงเอาง่าย ๆ เลยก็ได้