เมื่อเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากสุดในยุคปัจจุบัน ธุรกิจทุกประเภทจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจไม่ว่าจะเคยมีชื่อเสียงบนโลกออฟไลน์แค่ไหนก็ตาม ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ควรทำความรู้จักนั่นคือ “API” หากใครกำลังสงสัยว่า API คืออะไร จะขออธิบายแบบง่าย ๆ ฉบับคนที่ไม่รู้เรื่องหรือไม่ถนัดไอทีมาก่อนก็สามารถเข้าใจได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

API คืออะไร

Application Programming Interface หรือ API คือ การเชื่อมต่อระหว่างระบบหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่งโดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้ซอฟต์แวร์ภายนอกและระบบต่าง ๆ สามารถเข้าถึง อัปเดตข้อมูลกันได้ แต่ยังอยู่ภายใต้ของข้อกำหนดที่ระบุเอาไว้ในขอบเขตอันเหมาะสม ทั้งนี้หากสรุปแบบเข้าใจง่ายอีกครั้งก็อาจบอกได้ว่า API เปรียบเหมือนตัวกลางทำหน้าที่รับคำสั่งจากนั้นจึงเกิดการประมวลผล และนำข้อมูลส่งกลับคืนไปสู่ผู้สร้างคำสั่งแบบอัตโนมัติ

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนก็ลองนึกถึงการใช้งแอปพลิเคชันบนมือถือที่ได้รับความนิยมกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น Facebook, Instagram, TikTok, YouTube และอื่น ๆ หรืออย่างกลุ่มแอปเดลิเวอรี่ที่มีการนำข้อมูลเชื่อมต่อเข้ากับแอป Google Map ซึ่งคนพัฒนาแอปไม่ต้องเขียนโปรแกรมหรือสร้างแอปแผนที่ใหม่ของตนเองขึ้นมา เพราะระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้แบบไม่ต้องปิดแอปเดิมแล้วเปิดแอปใหม่ให้ยุ่งยากและเสียเวลา

จากข้อมูลดังกล่าวนี่เองจึงทำให้ธุรกิจจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญและมองว่าระบบ API เป็นอีกทางเลือกชั้นยอดที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจเมื่อใช้งานแอปหรือเว็บไซต์ของพวกเขา แต่ไม่ใช่แค่โลกออนไลน์เท่านั้น เพราะ บริการ SMS มือถือก็อยู่ในหมวดเดียวกันด้วย เหตุผลเพื่อให้การเรียกดูข้อมูลรายงานผลง่ายขึ้น สะดวก รวดเร็ว และลดโอกาสผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นนั่นเอง

ตัวอย่างการใช้งานระบบ API ของโลกออนไลน์

อย่างที่อธิบายไปว่า API เปรียบเสมือนคนกลางที่เชื่อมต่อระหว่างข้อมูลให้สามารถอัปเดตหรือเข้าถึงข้อมูลอื่น ๆ จากภายนอกแล้วลิงก์กลับมายังหน้าแอปของตนเองได้ ตัวอย่างการใช้งานระบบดังกล่าวบนโลกออนไลน์จึงมีอยู่เยอะมาก ขอยกตัวอย่าง ดังนี้

1. Delivery API

เมื่อคุณกดเข้าไปบนหน้าแอปเดลิเวอรี่ จากนั้นเลือกร้านอาหารที่ตนเองต้องการสั่ง หรือบางคนจะดูที่อยู่ของร้านว่าตรงไหนก็สามารถคลิกแผนที่ได้ ระบบ API ก็จะส่งข้อมูลไปยัง Google Map เพื่อแสดงแผนที่ร้าน หรืออย่างกรณีชำระเงิน การเติมเงินเข้ามือถือเวลากำชำระ ข้อมูลจำนวนเงินที่คุณร้องขอก็ถูกส่งด้วย API ไปยังแอปธนาคารเพื่อเติมเงินต่อไปนั่นเอง

2. Social Media API

ช่องทาง Social Media ถือเป็นแอปที่ได้รับความนิยมมากสุดในยุคปัจจุบัน สามารถอัปเดตเทรนด์ แฟชั่น กระแสต่าง ๆ ของโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งระบบ Social Media API ก็มีเยอะมาก เช่น เวลาเข้าไปยังหน้าเว็บไหน หรือแม้แต่แอป Social Media ใดก็ตาม หากรู้สึกถูกใจอยากแชร์เนื้อหาดังกล่าว ตัวเว็บเองก็จะมีปุ่มให้กดแชร์ไปยัง Social Media อื่น ๆ ตามอัธยาศัย นี่จึงเป็นระบบ API ประเภทหนึ่ง

3. Payment Gateway

เมื่อเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ ขายสินค้า เว็บจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ เมื่อคุณสั่งซื้อสินค้า / บริการแล้วกดชำระเงินตัว API ก็จะทำการเชื่อมต่อไปยังระบบที่คุณเลือกชำระ เช่น การส่งข้อมูลไปยังแอปธนาคาร การส่งข้อมูลเพื่อตัดยอดจากบัตรเครดิต หรือผู้ให้บริการอื่น เช่น PayPal, Stripe เป็นต้น

4. Weather API

อีกตัวอย่างที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันสำหรับการใช้ระบบ API นั่นคือการพยากรณ์สภาพอากาศ ลองสังเกตให้ดีไม่ว่าคุณจะเข้าไปเว็บหรือแอปใดก็ตาม บรรดาเจ้าของเว็บไม่ได้เป็นผู้พัฒนาระบบเช็กสภาพอากาศขึ้นมาเองเพื่อเก็บข้อมูล แต่เขาทำการเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา หรือผู้ให้บริการด้านพยากรณ์อากาศนั่นเอง

การใช้งานระบบ API กับการส่ง SMS

อย่างที่อธิบายเอาไว้ว่าจริง ๆ แล้วระบบ API ไม่ใช่แค่การใช้งานกับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเท่านั้น แต่บริการส่ง SMS ของผู้ให้บริการก็นำเอาระบบดังกล่าวเข้ามาเป็นผู้ช่วยด้วยเช่นกัน หลักเบื้องต้นคือ ผู้ให้บริการ หรือธุรกิจต้องการส่ง SMS ไปยังกลุ่มเป้าหมายหรือผู้รับจำนวนมาก จึงมีการส่งคำร้องขอดังกล่าวเข้าสู่ระบบที่มีบริการ API เมื่อระบบได้รับข้อมูลก็ทำการประมวลผล เสร็จแล้วข้อความ SMS ที่ถูกสร้างและกำหนดเลขหมายปลายทางก็จะถูกส่งไปยังเบอร์ดังกล่าว ภายในเวลาอันรวดเร็ว ข้อมูลถูกต้อง ตรงกัน ไม่ต้องเสียเวลาไล่ส่งทีละเบอร์ให้ยุ่งยาก กลยุทธ์นี้จึงเรียกอีกอย่างว่า SMS Marketing ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอยู่พอสมควรในยุคนี้

ข้อดีของการใช้งานระบบ API

  • เป็นสื่อกลางในการอัปเดตหรือส่งต่อข้อมูลระหว่างเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือการส่ง SMS ให้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น
  • ลดการจ้างแรงงานคนโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นผู้ช่วยแทน จึงประหยัดต้นทุนธุรกิจมากขึ้น
  • ลดความผิดพลาดในการนำเสนอข้อมูลของแอป เว็บไซต์
  • ผู้ใช้งานเกิดความประทับใจต่อผู้ให้บริการ และกระตุ้นการขายได้ดีกว่าเดิม

สรุป

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตธุรกิจเองก็ต้องพยายามอย่างหนักในการนำสิ่งดังกล่าวมาต่อยอดและพัฒนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ระบบ API เองจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงศักยภาพในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ทุกธุรกิจเมื่อพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของตนเอง รวมถึงธุรกิจที่เลือกกลยุทธ์ SMS Marketing จึงต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ