ในการทำธุรกิจ หรือสร้างแบรนด์ใดขึ้นมาก็ตาม เรื่องของ “Brand Awareness” คือสิ่งที่เจ้าของต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบได้กับภาพลักษณ์ที่ส่งต่อถึงอนาคต บ่งบอกความรู้สึกจากลูกค้าที่พบเห็นได้ชัดเจน หลายคนที่ยังมีข้อสงสัยว่า Brand Awareness คืออะไร แล้วทำไมต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กับเรื่องอื่น ลองมาหาคำตอบทั้งหมดได้เลย

Brand Awareness คืออะไร

Brand Awareness คือ การสร้างการรับรู้ของแบรนด์ซึ่งพยายามสื่อสารออกไปสู่กลุ่มเป้าหมาย เน้นภาพลักษณ์ที่กระตุ้นความรู้สึกเชิงบวก ความน่าเชื่อถือ และดึงดูดให้พวกเขาเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด มากไปกว่านั้นยังต้องสร้างการจดจำกับคนที่พบเจอทั่วไป เมื่อพวกเขาเห็นสินค้า / บริการใดก็ตามจะต้องนึกถึงแบรนด์ของคุณในลำดับต้น ๆ เสมอ จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้การทำ Brand Awareness อาจมีได้ทั้งสร้างชื่อแบรนด์ให้จดจำง่าย เมื่อเวลาผ่านไปคนก็จะเรียกชื่อแบรนด์และเข้าใจทันทีว่าคือสินค้า บริการอะไร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเรียก “มาม่า”, น้ำยาล้างจานเรียก “ซันไลต์”, น้ำอัดลมสีดำเรียก “โค้ก” หรือ “เป๊ปซี่”, ผงซักฟอกเรียก “แฟ้บ”, ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กเรียก “แพมเพิส” เป็นต้น

หรืออีกเทคนิคที่ธุรกิจจำนวนมากนิยมใช้คือ การสร้างสโลแกนให้คล้องจอง จำง่าย และสื่อถึงสินค้า / บริการ ชัดเจน เช่น หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา 7-11, กินอะไร ๆ กินอะไร ไปกิน MK, คิดถึงสีฟ้าเวลาหิว,  โก๋แก่ มันทุกเม็ด, มิสทีนมาแล้วค่ะ, อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ, กรอบเกลียว เคี้ยวโปเต้, “คิดจะดื่มน้ำ ดื่มคริสตัล, มายมิ้นท์ พูดแล้วหอม, โป๊ยเซียน ใช้ดม ใช้ทา ในหลอดเดียวกัน ฯลฯ

ความสำคัญของ Brand Awareness ต่อธุรกิจ

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าสามารถจำชื่อแบรนด์หรือชื่อธุรกิจของคุณได้สำเร็จเมื่อเขานึกถึงสินค้า / บริการนั้น ๆ ก็เท่ากับการสร้าง Brand Awareness ประสบผลตามเป้าหมายที่คาดหวัง ซึ่งความสำคัญของเรื่องดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

1. ได้เปรียบคู่แข่งอย่างชัดเจน

หากมีคนจำชื่อแบรนด์ได้ย่อมเกิดความได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งแบบไม่ต้องสงสัย แม้ความชอบของบุคคลอาจแตกต่างกันออกไปแต่อย่างน้อยนั่นบ่งบอกว่าธุรกิจคุณเกิดการรับรู้วงกว้าง และถ้าใครสักคนจะแนะนำสินค้า / บริการประเภทนั้น ๆ ให้คนอื่นรู้จักย่อมต้องมีชื่อของแบรนด์คุณแบบไม่ต้องสงสัย

2. เพิ่มโอกาสสร้างยอดขาย

เป็นความสำคัญที่ไล่เรียงต่อกันมาจากข้อแรก เมื่อคนรับรู้ในวงกว้าง เกิดการแนะนำบอกต่อ โอกาสที่ลูกค้าใหม่จะเข้าหาย่อมเป็นเรื่องง่ายขึ้น และพอมีคนซื้อก็เกิดยอดขาย ผลกำไรตามมา ธุรกิจสามารถเติบโตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

3. สร้างความน่าเชื่อถือต่อตัวแบรนด์

การสร้าง Brand Awareness ในเชิงบวกจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ลูกค้าเกิดทัศนคติสร้างสรรค์ รู้สึกอยากทดลองใช้งาน แม้บางครั้งอาจไม่ได้ชอบพอมากที่สุดแต่ก็สามารถเป็นตัวแทนหากไม่สามารถซื้อแบรนด์ที่ใช้ประจำได้

4. ต่อยอดความสำเร็จและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์

เมื่อแบรนด์ติดตลาด มีคนพูดถึง เป็นที่รู้จักกับผู้คนวงกว้างก็สามารถต่อยอดเพิ่มเติมไลน์สินค้า / บริการอื่น ภายใต้แบรนด์เดิม ขยายธุรกิจ แตกกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้ความไว้วางใจที่ลูกค้ามอบให้ ยิ่งถ้ายอดขายดี การตอบรับน่าพึงพอใจ มูลค่าตัวแบรนด์ก็ยิ่งพุ่งแบบหยุดไม่อยู่

แนวทางการสร้าง Brand Awareness ให้ประสบผลสำเร็จ

ไม่ว่าธุรกิจไหนต่างก็อยากให้ตนเองมีผลลัพธ์ที่ดีเมื่อเริ่มต้นทำแบรนด์ แต่การจะสร้าง Brand Awareness ให้ประบความสำเร็จก็จำเป็นต้องรู้เทคนิค กลยุทธ์ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ แตกต่าง หรือความสะดุดหู สะดุดตา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ลองนำแนวทางที่จะแนะนำไปใช้กันเลย

1. สร้างสรรค์ แปลกใหม่ แต่ไม่ประหลาดเกินเหตุ

การจะทำ Brand Awareness สิ่งแรกที่คุณต้องคิดคือพยายามเพิ่มไอเดียสร้างสรรค์ ความแตกต่าง แปลกใหม่ แต่ไม่ต้องประหลาดเกินไป เพราะความเป็นแฟชั่นจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว พอกระแสหายทุกอย่างก็หายตามด้วย เอาให้อยู่บนความพอดี เช่น การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ ตั้งชื่อแบรนด์ ตั้งสโลแกน

2. Content Marketing สำคัญมาก

โลกออนไลน์สามารถสร้างกระแสไวรัลได้อย่างรวดเร็ว ถ้าอยากให้คนรับรู้และคุ้นชินจึงต้องหมั่นทำ Content Marketing อยู่เสมอ เช่น การทำคลิปวิดีโอจนเกิดการแชร์ การพูดถึงวงกว้าง การทำโพสต์เรียกไลค์ เรียกแชร์ หรือแม้แต่การตอบคำถามลูกเพจก็สามารถสร้าง Brand Awareness ได้หากมีสไตล์ชัดเจน และเทคนิคนี้ก็ถือเป็นกลยุทธ์ด้าน Content Marketing ประเภทหนึ่งด้วย

3. พยายามทำให้เกิด User-Generated Content

User-Generated Content คือ เนื้อหาที่ถูกทำขึ้นโดยลูกค้าส่งกลับมายังแบรนด์ เช่น การรีวิวสินค้า การคอมเมนต์ สิ่งสำคัญต้องทำให้เกิดเชิงบวกแล้วคุณจะใช้ประโยชน์จาก User-Generated Content ได้อย่างเต็มศักยภาพ นั่นจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกเชื่อถือ พึงพอใจ และอยากเข้ามาทดลองใช้มากขึ้น

4. สร้าง Brand Value ควบคู่ไปด้วย

การสร้าง Brand Value หรือ จุดยืนของแบรนด์จะทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกถึงความพึงพอใจ ความโดดเด่น เข้าใจถึงอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้ชัดเจน นำมาซึ่งความไววางใจและอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนธุรกิจของคุณ

5. การทำ Digital PR หรือ Press Release

ปัจจุบันมีสำนักข่าวใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศ เปิดช่องทางให้เราซื้อบริการลงโฆษณาบนเว็บไซต์เพื่อโปรโมทข่าวสาร อีเว้นท์ หรือกิจกรรมของบริษัท ด้วยการเป็นเว็บใหญ่มีผู้คนเข้าใช้เว็บไซต์เป็นจำนวนมาก จะส่งผลดีต่อ Brand Awareness และส่งผลดีต่อ SEO อีกด้วย

สรุป

การสร้าง Brand Awareness คือ การสร้างภาพจำที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายที่คุณกำลังนำเสนอเพื่อเปลี่ยนให้คนเหล่านั้นเป็นลูกค้า ซึ่งเทคนิคยอดนิยมมีทั้งการใช้สโลแกน หรือการตั้งชื่อแบรนด์ให้สะดุดตา น่าสนใจ สอดคล้องกับสินค้า / บริการ แต่ไม่แปลกจนมูลค่าลดลง เมื่อเกิดการจดจำได้สำเร็จโอกาสเติบโตของธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องไกลอีกต่อไป