Call To Action คืออะไร สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร

 

นักการตลาดออนไลน์บางคนน่าจะคุ้นหูกับคำว่า Call To Action แต่อาจยังไม่รู้ความหมายที่แน่ชัด ครั้งนี้ทางบทความจึงรวบรวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับความหมายว่า Call To Action คืออะไรมาฝาก เพื่อให้นักการตลาดได้ทำความเข้าใจและนำไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะกับธุรกิจของตัวเอง 

Call To Action คืออะไร?

 

Call To Action หรือ CTA คือการโน้มน้าวให้ผู้รับสาร กระทำบางอย่างด้วยข้อความกำกับ เพื่อตอบจุดประสงค์ตามแผนการตลาดที่วางไว้ โดยคำว่า Call หมายถึง เรียก, เรียกหา To หมายถึง ถึง, ไปยัง, ไปหา ส่วน Action หมายถึง การกระทำ เมื่อรวมกันแล้วแปลตรงตัวจะกลายเป็น เรียกหาไปยังการกระทำ ซึ่งก็เหมือนกับการขอให้ทำให้หน่อยในเชิงโน้มน้าว โดยไม่ใช่คำสั่ง และไม่ถึงกับขอร้องนั่นเอง

 

ในการกระทำที่เรียกว่า Call To Action เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อาจเป็นไปได้ยากสักหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เปรียบเสมือนการบอกให้ผู้รับสารกระทำบางอย่างหลังจากเห็นเนื้อหานั้น เช่น การใส่ข้อความกำกับว่า “อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์” หลังเห็นเนื้อหานั้นบน Facebook หรือแม้แต่การติดปุ่ม “สั่งซื้อเลย” บนโพสต์เพื่อให้ผู้รับสารกดสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการติดปุ่ม “ทักแชท” บนโพสต์เพื่อให้ผู้รับสารส่งข้อความเข้ามา และการติดปุ่มที่กำกับว่า “คลิกเลย” ก็เป็นการ Call To Action รูปแบบหนึ่ง 

 

ไม่ใช่เพียงสื่อออนไลน์เท่านั้นที่สามารถทำได้ แต่สื่อออฟไลน์ อย่างเช่นใบปลิวก็สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่นการระบุเบอร์โทรศัพท์เอาไว้ แล้วกำกับด้วยข้อความ “โทรเลย” ก็เป็นการ Call To Action เช่นกัน 

ความสำคัญของ Call To Action คืออะไร?

 

Call To Action คือสิ่งสำคัญกับการตลาด เพราะนอกจากสื่อสารว่าสินค้าคืออะไร ดีอย่างไร ราคาเท่าไร แต่ถ้าขาด Call To Action ก็อาจทำให้โอกาสการขายลดลงได้ เนื่องจาก Call To Action ช่วยกระตุ้นการซื้อได้ จะเห็นว่าบางครั้งโฆษณาที่ลงรายละเอียดไว้เกือบครบทุกอย่าง แต่ไม่มี Call To Action ก็อาจทำให้คนเลื่อนผ่านไปได้หลังจากอ่านรายละเอียดครบแล้ว 

 

ขณะที่อีกแบรนด์หนึ่งอาจขายสินค้าเดียวกัน ให้รายละเอียดครบถ้วนเหมือนกันทุกอย่าง แต่เพิ่มเติมคือ Call To Action ด้วยปุ่มสั่งซื้อ อาจทำให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าแตะปุ่มสั่งซื้อแทนที่จะเลื่อนผ่านเหมือนกับแบรนด์แรก และเมื่อลองแตะปุ่มแล้วก็มีโอกาสที่จะสั่งซื้อให้สำเร็จ ขณะที่แบรนด์แรกที่ไม่ยอมติดปุ่มสั่งซื้อไว้ ก็ไม่ทำให้เกิดโอกาสตรงนี้ บางแบรนด์อาจเพิ่ม Call To Action หลังแตะปุ่มสั่งซื้อด้วยการแจกโค้ดส่วนลด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อให้สำเร็จได้อีกด้วย ช่วยเพิ่มโอกาสการสั่งซื้อให้วสำเร็จสูงขึ้นอีก 

 

ในบางกรณีสามารถเรียก Action ได้โดยไม่ได้ทำการ Call To Action แต่ก็อาจเป็น Action ที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์นัก ยกตัวอย่างเช่น การโฆษณาสินค้าที่บอกรายละเอียดครบ แต่ไม่ได้ระบุว่าสามารถซื้อได้ด้วยวิธีไหน หรือไม่มีปุ่มสั่งซื้อติดไว้ ทำให้เกิด Comment คำถามใต้โพสต์ว่า สั่งซื้อยังไง, ซื้อได้ที่ไหน ฯลฯ ก็ทำให้ขายไม่ได้ ทั้งที่คนสนใจซื้อแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น แม้จะขายไม่ได้ แต่การ Comment ถาม ก็คือการ Action ในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน แม้เนื้อหาจะขาด Call To Action แต่ก็ทำให้เกิด Action ได้ ซึ่งอาจไม่ถูกจุดประสงค์เท่าไร หากจุดประสงค์หลักคือการขาย 

วิธีทำ Call To Action คืออะไร?


วิธีทำให้เกิด Call To Action สามารถทำได้หลากหลายวิธี เน้นไปที่การโน้มน้าวเพื่อให้เกิดการกระทำบางอย่าง ไม่จำเป็นว่าการกระทำนั้นต้องเป็นการสั่งซื้อเสมอไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หลักของแผนการตลาดว่าต้องการอะไร โดยในครั้งนี้ทางบทความก็จะยกตัวอย่างวิธีทำ Call To Action มาให้ ดังนี้

 

การทำ Call To Action บนเว็บ Marketplace 

 

จุดประสงค์หลักที่พบได้มากที่สุดบนเว็บ Marketplace คือการสั่งซื้อสินค้า ทำให้การทำ Call To Action คือการ “ติดปุ่มใส่ตะกร้า/ใส่รถเข็น” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทำการสั่งซื้อสินค้า และอาจมีการทำ Call To Action ถัดไปด้วยการ แจกคูปองส่วนลดหรือโค้ดส่วนลด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายกดรับส่วนลดนั้น และทำการสั่งซื้อให้สำเร็จ เป็นต้น

การทำ Call To Action บน Social Media 

 

ในส่วนของการทำ Call To Action บน Social Media อาจมีความซับซ้อนมากกว่าบนเว็บ Maketplace เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ใช้งาน  Social Media ไม่ได้มีความตั้งใจซื้อสินค้าตั้งแต่แรก บางครั้งอาจมีการนำ Customer Journey มาปรับใช้ในการทำ Call To Action ด้วย เพื่อให้คนสนใจสินค้าหรือรู้จักสินค้าก่อน หากเกิดความสนใจแล้วค่อยนำไปสู่การขายภายหลัง และอาจมีการทำ Call To Action เชื่อมต่อไปยังเว็บ Marketplace ด้วย ขึ้นอยู่กับแผนการตลาดของแต่ละธุรกิจ

 

  1. ติดปุ่ม “ส่งข้อความ” เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อปิดการขาย, เพื่อยิงแอดซ้ำ ฯลฯ 
  2. เชิญชวนให้กดปุ่ม Reaction (Like, Love, Laugh, Wow ฯลฯ) เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อกรองกลุ่มเป้าหมายและทำการตลาดต่อ ฯลฯ
  3. เชิญชวนให้กดปุ่ม Share เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อการโฆษณาโดยการบอกต่อแบบ Organic ฯลฯ
  4. ติดปุ่ม “เรียนรู้เพิ่มเติม” เพื่อเชื่อมต่อไปยังหน้าเว็บไซต์อื่น เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม, เพื่อปิดการขายบนเว็บ Marketplace, เพื่อกรองกลุ่มเป้าหมายและทำการตลาดต่อ ฯลฯ

 

เทคนิคการทำ Call To Action คืออะไร?

 

เทคนิคที่สำคัญที่สุด คือการทำ Call To Action ที่ตรงตามจุดประสงค์ ก่อนอื่นจะต้องวางวัตถุประสงค์ก่อนว่า จะสื่อสารอะไรเพื่อให้เกิดอะไร หากวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อสร้างการรับรู้ ก็ยังไม่จำเป็นต้องทำ Call To Action เพื่อให้เกิดการซื้อตั้งแต่แรก แต่อาจจะทำ Call To Action เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม ทำความรู้จักกับแบรนด์หรือทำความรู้จึกกับสินค้าไปก่อน แล้วเก็บกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นไว้เพื่อทำ Call To Action เพื่อการขายภายหลังได้ นอกจากนี้ข้อความที่เกี่ยวกับการทำ Call To Action ควรเป็นข้อความที่สั้นกระชับ เข้าใจง่ายและดึงดูด ซึ่งส่งผลต่อให้เกิด Action ได้ง่ายกว่าข้อความยาวๆ เช่น โทรเลย, สั่งเลย, ทักเลย, ดูเพิ่มเติม, อ่านเพิ่มเติม เป็นต้น

 

หลังจากที่หลายคนได้รู้ความหมายไปแล้วว่า Call To Action คืออะไร คงจะพอนึกภาพออกแล้วว่าสำคัญต่อธุรกิจมากแค่ไหน ก็อย่าลืมนำไปปรับใช้ให้ถูกต้องกับธุรกิจของตัวเอง