เมื่อการทำธุรกิจยุคปัจจุบันต้องอาศัยโลกออนไลน์เป็นหัวใจสำคัญ เว็บไซต์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะของการเป็นหน้าร้านเพื่อสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จ แต่เมื่อเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตก็มักมีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามสกัดกั้น กลั่นแกล้ง หรือแม้แต่ต้องการเงินจากองค์กรด้วยวิธีสกปรกผ่านการโจมตีเว็บไซต์ด้วยรูปแบบต่าง ๆ และหนึ่งในวิธีที่พบได้บ่อยมากนั่นคือ DDOS หรือ Distributed Denial of Service
ตอบข้อสงสัย DDOS คืออะไร?
DDOS คือ รูปแบบหนึ่งของการโจมตีผ่านระบบไซเบอร์ ย่อมาจากคำว่า Distributed Denial of Service ซึ่งวิธีที่แฮกเกอร์ดำเนินการพวกมันจะส่งคำขอการเข้าถึงข้อมูล (Traffic) จากหลายพิกัดไปยังเว็บไซต์ของคุณพร้อม ๆ กัน ผลที่เกิดขึ้นคือ เว็บดังกล่าวจะมีปริมาณ Traffic เยอะจนเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถรองรับการทำงานได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ตามมาด้วยปัญหา “เว็บล่ม” หรือ 500 Internal Server Error ใช้งานไม่ได้ในที่สุด!
ส่วนมากแล้วการโจมตีด้วยวิธี DDOS มักมีเป้าหมายไปยังองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก แต่ก็มีองค์กรที่กำลังเริ่มมีชื่อเสียงในหลายแวดวง เช่น อีคอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ ระบบโทรคมนาคม สินค้าไอที โดนด้วยเช่นกัน จุดประสงค์ของพวกมันก็มีตั้งแต่เพื่อรบกวนการทำงาน สร้างความเสียหาย ไปจนถึงการขโมยข้อมูล การเข้าไปหลอกผู้ใช้บริการจนองค์กรนั้น ๆ เสื่อมเสียชื่อเสียงได้เช่นกัน
ขณะที่คนในแวดวงโปรแกรมเมอร์หรือคนที่ต้องอยู่กับการดูแลเว็บไซต์บริษัทอาจเคยเห็นคำว่า DOS กันพอสมควร ซึ่ง DOS ย่อมาจาก Denial of Service ซึ่งมีความหมายและจุดประสงค์แบบเดียวกับ DDOS ทุกประการ เพียงแค่ DOS จะใช้การโจมตีจากพิกัดหรือคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวเท่านั้น
DDOS หรือการโจมตีจากหลาย Traffic มาจากอะไร?
ถ้าลองนึกภาพคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เท่ากับ 1 Traffic 1 พิกัด หรือจะเรียก 1 อุปกรณ์ก็ความหมายเดียวกัน แล้วการโจมตีแบบ DDOS ซึ่งเกิดจาก Traffic จำนวนมากมาจากอะไร? คำตอบคือ Traffic ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า Robot Network หรือคำนิยมสั้น ๆ “Botnet” ซึ่งแฮกเกอร์ตัวร้ายจะทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ มัลแวร์ที่มีความอันตรายเอาไว้กับมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
ซึ่งวิธีแฝงตัวของมัลแวร์ดังกล่าวอาจเกิดจากการแอบแฝงลิงค์เอาไว้บนเว็บไซต์ ส่งไปบนอีเมล หรือแม้แต่ลิงค์ตาม Social Media ต่าง ๆ พอมีคนกดเข้าไปอุปกรณ์เครื่องนั้นก็โดนซอฟต์แวร์ติดตั้งแบบอัตโนมัติ จากนั้นแฮกเกอร์ก็จะสามารถควบคุมอุปกรณ์ดังกล่าวได้ทันที ซึ่งพวกมันก็นำไปสร้าง Traffic สำหรับโจมตีเว็บไซต์เป้าหมายได้จากทั่วโลกนั่นเอง
หลักการโจมตีของ DDOS ที่ควรรู้เอาไว้
จากคำอธิบายที่ระบุมาคงพอทำให้เห็นภาพหลักการเบื้องต้นของแฮกเกอร์ที่พยายามจะโจมตีเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยวิธี DDOS
การโจมตี http flood DDoS เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ประเภทหนึ่งที่ใช้ปริมาณการรับส่งข้อมูลอย่างล้นหลามเพื่อทำลายเว็บไซต์หรือเซิร์ฟเวอร์ โดยปกติแล้ว การรับส่งข้อมูลจะถูกส่งผ่านอุปกรณ์ที่ถูกไฮแจ็กจำนวนมาก เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ IoT
แต่ถ้าให้สรุปเพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีอันแสนร้ายกาจนี้ก็พอจะบอกได้ 3 ขั้นตอนหลัก ประกอบไปด้วย
1. การรวบรวม Traffic
ในการโจมตีแบบ DDOS อย่างที่บอกว่าต้องรวม Traffic ให้ได้จากหลายพิกัด หลายอุปกรณ์ พวกมันก็จะส่งลิงค์แฝง ลิงค์มัลแวร์ต่าง ๆ ไปตามช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ อีเมล Social Media เมื่อมีใครเผลอคลิกก็จะถูกนับเป็น 1 Traffic ที่แฮกเกอร์สามารถควบคุมได้จากระยะไกล หรือเรียกอีกอย่างว่าอุปกรณ์ของบุคคลผู้นั้นจะแปรสภาพสู่ Botnet แบบเจ้าของเครื่องไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ
2. การจู่โจมเป้าหมาย
หลังจากได้ Botnet มากจนพอใจ แฮกเกอร์จะทำการจู่โจมไปยังเว็บไซต์เป้าหมายที่พวกมันเล็งไว้ทันที ซึ่งวิธีก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น การส่งคำขอเข้าถึงข้อมูล หรือส่ง Traffic ไปยังเว็บดังกล่าวให้มากที่สุดจนเซิร์ฟเวอร์รับไม่ไหว หรืออาจใช้วิธีสุ่มการส่ง Traffic จนทำให้แบนด์วิธเต็ม ใช้งานต่อไม่ได้
3. การเรียกค่าไถ่
นี่คือจุดประสงค์หลักของคนร้ายที่มักโจมตีด้วยวิธี DDOS เมื่อเว็บดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้พวกมันก็ทำการเรียกเงินค่าไถ่เพื่อปลดล็อกให้ระบบกลับมาทำงานต่อได้ดังเดิม มีทั้งเรียกเป็นตัวเงินและอื่น ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลที่บอกว่าทำไมแฮกเกอร์จึงมักเลือกองค์กรขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่กำลังมีชื่อเสียง
ผลเสียของธุรกิจที่เจอการจู่โจมด้วยวิธี DDOS
แน่นอนว่าสิ่งแรกที่จะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจเมื่อเว็บไซต์โดนโจมตีด้วยวิธี DDOS คือ ระบบการทำงานต่าง ๆ ต้องหยุดลงชั่วคราว ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เสียโอกาสในการสร้างยอดขาย ผลกำไร เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถซื้อสินค้า / บริการได้ รวมถึงคนที่ต้องทำงานบนหน้าเว็บไซต์ เช่น การนำเสนอโปรโมชั่น การทำ SEO ก็ต้องเบรกงานของตนเอง เรียกว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้
ผลเสียต่อมาคือเรื่องภาพลักษณ์ ชื่อเสียง การโดนแฮกเกอร์โจมตีจนเว็บไซต์มีปัญหาถือเป็นความเสียหน้าที่องค์กรจำนวนมากถูกมองว่าระบบเกิดความหละหลวม ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจลดลง
ท้ายที่สุดอาจต้องเสียเงินเสียทองจากการถูกเรียกค่าไถ่ หรือกรณีไม่ทำตามข้อมูลลับของบริษัทที่อยู่ในมือแฮกเกอร์อาจแพร่งพรายออกไปจนสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงมากกว่าที่คิดในอีกหลายด้านมาก ๆ
วิธีป้องกัน DDOS
วิธีการยอดฮิตและโปรแกรมเมอร์ใช้เป็นประจำคือ ใช้ Cloudflare เปิดระบบกัน DDOS Attack Protection ไปที่เมนู Security > Settings > เลือก Dropdown ที่ I’m Under Attack!
หลังจากนี้ ทุกครั้งที่ ผู้ใช้เข้าเว็บ หน้าเว็บจะมีหน้าตา การตรวจสอบจาก Cloudflare ลักษณะนี้ครับ
สรุป
นี่คือข้อมูลอันน่าสนใจของ DDOS หรือ การโจมตีบนโลกไซเบอร์ด้วยวิธีการที่ยังคงถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง หากธุรกิจของคุณไม่อยากพบเจอกับปัญหาดังกล่าวทีมงานโปรแกรมเมอร์คือหัวใจสำคัญที่จะต้องอัปเดตระบบ คอยตรวจสอบความผิดปกติ พยายามหาช่องโหว่ที่อาจเป็นช่องทางที่แฮกเกอร์จะทำร้ายเว็บไซต์แล้วปิดให้เรียบร้อย รวมถึงการวางแผนสำรองเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉินจะช่วยให้ทุกอย่างราบรื่น ธุรกิจเดินหน้าต่อแบบไม่มีสะดุด