ด้วยวิทยาการและความรู้ต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นของคนยุคใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แนวคิดอันน่าสนใจมักถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางการใช้ชีวิตทุกด้านเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ รวมถึงยังช่วยพัฒนาศักยภาพให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวัง แนวคิดที่เรียกว่า “Scrum” หรือ “Scrum Framework” ก็จัดเป็นอีกทฤษฎีที่มีถูกพูดถึงเยอะมาก โดยเฉพาะการอยู่คู่กับแนวคิด Agile ซึ่งใครที่สงสัย Scrum คืออะไร นำมาปรับใช้กับการทำงานได้มากน้อยแค่ไหน มีคำตอบมาบอกเล่ากันแล้ว
Scrum คืออะไร
Scrum คือ ลักษณะการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการแบ่งลำดับออกเป็นขั้นตอนย่อย ๆ เพื่อให้สามารถระบุปัญหาที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น งานแต่ละสเต็ปจะถูกตรวจทานอย่างละเอียดจากหัวหน้าหรือลูกค้า หากยังต้องปรับปรุงแก้ไขก็สามารถดำเนินการได้ทันทีแบบไม่ต้องรอให้จบทั้งโปรเจกต์แล้วต้องมารื้อแก้ไขจนวุ่นวาย ตอบโจทย์รูปแบบการทำงานเป็นทีมและการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูงในโลกยุคใหม่
มากไปกว่านั้นการทำงานรูปแบบ Scrum Framework ยังมีประสิทธิภาพด้านการประเมินผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปตามจุดประสงค์ที่คาดหวังมากน้อยเพียงใด หากยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องการก็รีบแก้ไขได้แบบทันท่วงที สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในด้านราคา ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อลูกค้าพึงพอใจก็ยินดีจ่ายแบบไม่ลังเล และโดยสรุปแนวคิดแบบ Scrum ก็เป็นอีกรูปแบบการทำงานของ Agile ด้วยนั่นเอง
ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง Scrum กับ Agile
อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังมีหลายคนเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิดการทำงานระหว่าง Scrum กับ Agile ต้องขออธิบายแบบนี้ว่ากรณีของ Agile จะเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปประยุกต์กับการทำงานได้หลายลักษณะ เช่น งานด้านเอกสาร วางแผนการตลาด บริหารทรัพยากรบุคคล และพยายามตัดทอนบางสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป แต่สำหรับ Scrum หมายถึงแนวคิดที่เน้นการทำงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางแผนเอาไว้ด้วยการแบ่งขั้นตอนย่อย ๆ ชัดเจน มีการวัดผลลัพธ์และแก้ไขปัญหาอยู่ตลอด โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องหรือต้องใช้ Software พัฒนาประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม Scrum ก็มีพื้นฐานที่แตกย่อยออกมาจาก Agile
หน้าที่ของทีมงานเมื่อเลือกทำ Scrum
1. Product Owner
ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนจากลูกค้าเพื่อประเมินภาพรวมต่าง ๆ ของงานที่ออกมา รวมถึงยังต้องคอยจัดลำดับหน้าที่ของทีมให้แต่ละคนทำงานตามความสำคัญอย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญของตำแหน่งนี้ต้องมีความรู้ ความเช้าใจเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจ และจุดประสงค์ของลูกค้า จะเรียกเป็นคนคอยควบคุมภาพรวมก็ไม่ผิดนัก
2. Scrum Master
ทำหน้าที่ประสานงานในส่วนต่าง ๆ ให้สามารถเดินต่อได้อย่างลื่นไหล คอยจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงปัญหาใหญ่ ความหมายโดยรวมอาจไม่เชิงกับการเรียกเต็มปากว่าผู้นำ แต่การทำให้ทุกความยุ่งยากซับซ้อนง่ายดายขึ้น หาทางออกของปัญหาเจอพร้อมเดินหน้าต่อแบบมีทิศทาง ติดตามผลลัพธ์อย่างสม่ำเสมอ กลายเป็นอีกหัวใจหลักที่สร้างความสำเร็จได้จริง
3. Development Team
ทีมงานประมาณ 3-9 คน ผู้มีหน้าที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามจุดประสงค์และข้อกำหนดที่ระบุเอาไว้ ซึ่งถ้าแยกย่อยออกไปก็จะมีตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อแบ่งความรับผิดชอบอยู่อีก เช่น Designer, Programmer, UI/UX, Tester ไปจนถึงการแบ่งหน้าที่ตามลักษณะโปรเจกต์งานที่ได้รับ
Scrum Artifacts คืออะไร
Scrum Artifacts คือ เครื่องมือสำคัญสำหรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมจัดการกับกระบวนการต่าง ๆ ในด้านการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการเผยผลลัพธ์จากโปรเจกต์ที่ถูกพัฒนาขึ้น แบ่งออกได้ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. Product Backlog
Product Backlog คือ รายการจำนวนงานทั้งหมดที่นำมาใช้สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งหน้าที่นี้ต้องทำโดย Product Owner พยายามเรียงลำดับความสำคัญเพื่อกระจายสู่คนอื่นในทีมให้ชัดเจน เช่น การกำหนดรายละเอียดของงานแต่ละตำแหน่ง หลักการสำหรับใช้ทดสอบผลลัพธ์ วางแผนและประเมินปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น รวมคอมเมนต์ ฟีดแบ็คจากลูกค้า เป็นต้น
2. Sprint Backlog
Sprint Backlog คือ รายการงานที่ถูกเลือกมาจาก Product Backlog สำหรับใช้ทำในแต่ละ Sprint ส่วนนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของ Development Team จะต้องค้นหา รวบรวมข้อมูลทั้งหมดสำหรับอัปเดตขั้นตอนต่าง ๆ ของงานที่ทำ เช่น สิ่งใดกำลังทำ สิ่งไหนกำลังจะทำ และสิ่งไหนทำเสร็จเรียบร้อย ปัจจัยสำคัญของขั้นตอนนี้ทุกคนในทีมต้องเข้าถึงและตรวจสอบได้ตลอด
3. Increment หรือ Sprint Goal
เป็นผลงานที่มาจาก Product Backlog หากผลลัพธ์สมบูรณ์แบบก็จะเรียก Increment สามารถนำออกสู่ตลาด หรือใช้งานได้จริง ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
ข้อดีของการทำ Scrum กับโปรเจกต์ต่าง ๆ
- ปัญหาของงานจะถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนในแต่ละขั้นตอน จึงสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อันสมบูรณ์แบบได้ตามจุดประสงค์ที่คาดหวัง
- ลดความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนเมื่อผลลัพธ์เสร็จออกมาแล้วแต่ไม่สมบูรณ์แบบมากพอ
- มีความยืดหยุ่นสูงมาก เหมาะกับการทำงานเป็นทีม ซึ่งองค์กรยุคใหม่จำนวนมากชื่นชอบ
- ประหยัดต้นทุนการผลิตเมื่อต้องปล่อยสู่ตลาดหรือใช้งานจริง เพราะไม่มีข้อผิดพลาดให้ต้องเปลี่ยนแม่แบบใหม่
สรุป
Scrum เป็นลักษณะของการแบ่งงานออกทีละขั้นตอนอย่างละเอียดเพื่อให้ทุกคนมองเห็นปัญหาของงานได้ชัดเจน สามารถปรับปรุง แก้ไข พัฒนาให้เกิดผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจสูงสุดเพื่อการนำไปใช้จริง หรือส่งต่อถึงลูกค้าภายใต้ความสมบูรณ์แบบ เหมาะกับคนที่ทำงานเป็นทีม มีความยืดหยุ่นสูง และยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจให้อยู่ในทิศทางเชิงบวกอีกด้วย